วิตามินดี (Vitamin D) เป็นหนึ่งในวิตามินที่มีความสำคัญต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าวิตามินชนิดอื่นๆ เลย แต่หลายคนมักจะมองข้ามไปเพราะคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนและมีแสงแดดตลอดปี คงได้รับวิตามินดีจากแสงแดดอยู่ทุกวัน และมันก็มากเพียงพอแล้ว แต่รู้หรือไม่? ผลวิจัยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่นั้นขาดวิตามินดี หรือมีระดับวิตามินดีต่ำกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว มากถึงร้อยละ 45.2
ยิ่วในยุคสมัยใหม่ new normal และมีการระบาดของ โควิด-19 (Covid-19) ทำให้ผู้คนเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำงานแบบ Work From Home อยู่บ้านกันมากขึ้น รวมถึงคนที่ทำงานในออฟฟิศ อยู่ในที่ร่ม แต่งตัวใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราไม่ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดที่มากพอเช่นกัน… วิตามินดี (Vitamin D) จะมีความสำคัญต่อร่างกายเราอย่างไร? ไปหาคำตอบกัน!
วิตามินดี (Vitamin D) คืออะไร ?
วิตามินดี (Vitamin D) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน โดยวิตามินดีที่สำคัญจะมีด้วยกันหลักๆ 2 ตัวคือ vitamin D2 (ergocalciferol) และ vitamin D3 (cholecalciferol) ทั้งสองชนิดนี้ร่างกายคนเราไม่สามารถผลิตหรือสังเคราะห์ขึ้นได้เอง แต่จะได้รับจากอาหารและจากแสงแดด
- วิตามินดี (Vitamin D) จากอาหาร : ได้จากการกินอาหารประเภทปลาทะเลน้ำลึกที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอล ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า นมหรือไข่บางประเภทที่มีการเพิ่มวิตามินดี ฯลฯ
- วิตามินดี (Vitamin D) จากแสงแดด : ถือเป็นร้อยละ 90 เลยทีเดียวที่เราได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ที่มีรังสี Ultraviolet B หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า UVB ซึ่งทำให้เกิดการกระตุ้นการสร้างวิตามินดีใต้ผิวหนังกำพร้า
วิตามินดี (Vitamin D) สำคัญอย่างไร ?
วิตามินดี มีประโยชน์ นอกจากจะช่วยเกี่ยวกับเรื่องความแข็งแรงของกระดูก การดูดซึมแคลเซียม ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และกระดูกบาง (Osteopenia) แล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายส่วนอื่นๆ เป็นอย่างมาก ทั้งอวัยวะและระบบการทำงานของร่ายกาย รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับทางด้านจิตใจด้วย
- วิตามินดีกับระบบกระดูกและข้อ ช่วยดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ไปสะสมที่กระดูก เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการสูญเสียแคลเซียม ป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และกระดูกบาง (Osteopenia)
- วิตามินดีกับกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ ลดอาการเมื่อยล้า และการอักเสบของกล้ามเนื้อ
- วิตามินดีกับสมอง วิตามินดีมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากเกี่ยวกับระบบสมองด้านความจำ การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ช่วยกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท (serotonin) ที่ช่วยลดความเครียด และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคทางจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ได้ดีมากทางหนึ่ง (ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นร่างกายมีการขาดวิตามินดี)
- วิตามินดีช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune System)
- กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด เผาผลาญน้ำตาลกลูโคส ป้องกันโรคเบาหวาน
- เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็ก
- วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์
- มีผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบหัวใจและหลอด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Cardiovascular Diseases)
- เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ช่วยลดการสร้างสารเรนินในไต ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
- ช่วยในการลำเลียงออกซิเจนจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ดีขึ้น
วิตามินดี (Vitamin D) มีกระบวนการทำงานอย่างไร ?
วิตามินดีที่ได้รับจากอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเมแทบอลิซึมในตับก่อน จากนั้นจะถูกส่งต้อไปยังอวัยวะเป้าหมาย ที่มีตัวรับที่เรียกว่า vitamin D receptors (VDR) เช่น ลำไส้ กระดูก สมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออื่นๆ รวมถึงสมองด้วย
อันตราย! หากขาดวิตามินดี หรือมีระดับวิตามินดีต่ำ (Vitamin D)
หากคนที่ขาดวิตามินดี หรือมีระดับวิตามินดีที่ต่ำมาก จะมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านสุขภาพและจิตใจ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น
- ระบบกระดูกและข้อ
วิตามินช่วยลดการสลายของแคลเซียมในกระดูก หากขาดวิตามินดี อาจส่งผลให้มวลกระดูกลดลง จนเกิดโรคกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนได้ในที่สุด
- วิตามินดีกับโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากงานวิจัยพบว่า ผู้คนที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/mL มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว ถึง 2.84 เท่า (Heart Failure) และภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Death – SCD) เป็น 5 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่มีระดับวิตามินดีสูง
- วิตามินดีกับโรคเบาหวาน
คนที่ขาดวิตามินดี มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับอาการปลายประสาทชาจากโรคเบาหวาน คิดเป็น 1.22 เท่าของคนมีวิตามินดีอยู่ในระดับปกติ
- วิตามินดีกับโรคมะเร็ง
มีงานวิจัยและตีพิมพ์เกี่ยวกับวิตามินดี ซึ่งพบว่าสามารถช่วยต้านโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ อาทิ มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งเต้านม, และมะเร็งต่อมลูกหมาก ฯลฯ เพราะค้นพบว่าบน T cell และ B cell ของเซลล์เม็ดเลือดขาวมีตัวรับ (Vitamin D Receptor (VDR) ที่จับกับวิตามินดี ทำหน้าที่ฆ่าสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้ แพยท์จึงแนะนำให้มีการทานอาหารเสริมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น
- วิตามินดีกับโรคทางระบบประสาท โรคจิตเภท เช่น ซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ โรคที่เกี่ยวข้องกับความจำ
ผู้ที่มีความเสี่ยงขาดวิตามินดี
- คนที่มีผิวสีเข้ม (Dark – Colored Skin) เนื่องจากมีปริมาณเม็ดสี หรือ เมลานิน (melanin) มากกว่าคนผิวขาว ที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสียูวี ป้องกันไม่ให้ผิวหนังไหม้ ดังนั้นคนที่มีผิวสีเข้มจึงต้องรับcแสงยูวีจากแดดนานกว่า
- ผู้สูงอายุ (Elderly Patients) เมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้การสังเคราะห์วิตามินดีลดลงกว่าคนอายุน้อยกว่า
- ผู้ป่วยโรคไต (Kidney Diseases)
- ผู้ป่วยโรคตับ (Liver Diseases)
- คนอ้วน น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน (Obese Patients)
- คุณแม่หลังคลอด / ทารกแรกเกิด
- คนที่รับแสงแดดไม่เพียงพอ อยู่ในเขตพื้นที่อากาศหนาวเย็น
- พนักงานออฟฟิศ
จากการวิจัย Bangkok Medical Journal ปี 2015 พบว่า พนักงานออฟฟิศ 211 แห่งทั่วกรุงเทพ กว่า 36.5% ขาดวิตามินดี
- ยุค New Normal ผู้คนเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานที่บ้านมากขึ้น อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้โอกาสในการรับรังสี UVB ลดลง รวมถึงหลีกเลี่ยงแสดงแดดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทาครีมกันแดด กางร่ม ใส่เสื้อแขนยาวปกคลุมร่างกาย เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการรับและสังเคราะห์วิตามินดีที่ลดลงด้วย
- คนที่กินมังสวิรัติ ไม่ทานปลา มีความเสี่ยงขาดวิตามินดี
- คนที่ต้องกินยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาขยายหลอดลม ยารักษาวัณโรคบางชนิด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
วิธีป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินดี - วิตามินดี หาได้จากที่ไหน?
อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า การที่จะได้รับวิตามินดี (Vitamin D) นั้นจะต้องได้รับจากอาหาร หรือแสงแดด เพราะฉะนั้นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินดี หรือทำให้ร่างกายมีปริมาณวิตามินดีที่สูงมากเพียงพอ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ
- สัมผัสแสงแดด ประมาณ 15 นาที แสงแดดช่วงเช้าประมาณ 06.00-08.00 น. หรือแสงแดดช่วงเย็น หลัง 16.00 น.
- เลือกรับประทานอาหารประเภทปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน , ไข่และนมบางชนิดที่มีการเติมวิตามินดี , ซีเรียล ขนมปัง ฯลฯ
- รับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม (Vitamin D Supplementation) โดยจะแบ่งเป็น วิตามินดีสอง (Ergocalciferol) และ วิตามินดีสาม (Cholecalciferol) แต่ก่อนรับประทานควรตรวจเช็คระดับปริมาณของวิตามินดีในร่างกายก่อน เพื่อให้แพทย์แนะนำปริมาณตามความเหมาะสม และเพื่อป้องกันการได้รับวิตามินดีสูงเกินความจำเป็นต่อร่างกาย
จะรู้ได้อย่างไรว่า? ร่างกายขาดวิตามินดีหรือไม่
สามารถตรวจระดับวิตามินดีในเลือดได้ (25-hydroxy-vitamin D) โดยผลจะมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ
- วิตามินดีอยู่ในระดับปกติ (มากกว่า 30 ng/mL)
- ภาวะพร่อง Vitamin D (20-30 ng/mL)
- ภาวะขาด Vitamin D (น้อยกว่า 20 ng/mL)
ซึ่งถ้าหากตรวจพบว่ามีปริมาณวิตามินดีต่ำ แพทย์จะแนะนำให้และให้ข้อมูลในการเพิ่มวิตามินดี เพื่อเพิ่มความแข็งแรงแก่ร่างกาย เช่น แนะนำการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี หรือทานวิตามินดีเสริม (Vitamin D3 / Cholecalciferol) ซึ่งปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับจะต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป *หากได้รับวิตามินดีมากเกินไปจะทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับต่อวัน ตามแต่ละช่วงอายุ
- อายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรได้รับวิตามินดี วันละ 400 IU (10 ไมโครกรัม)
- อายุไม่เกิน 70 ปี ควรได้รับวิตามินดี วันละ 600 IU (15 ไมโครกรัม)
- อายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดี วันละ 800 IU (20 ไมโครกรัม)
- สตรีตั้งครรภ์ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรได้รับวิตามินดี วันละ 2,000-4,000 IU (50-100 ไมโครกรัม)
- ทารกที่รับประทานนมแม่อย่างเดียวและมีความเสี่ยงขาดวิตามินดีสูงควรได้รับวิตามินดีเสริมวันละ 400-2,000 IU (10-50 ไมโครกรัม)
สิ่งที่ต้องระวังก่อนกินวิตามินดีเสริม
ผู้ป่วยบางกลุ่มโรคหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนได้รับวิตามิน เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิต, โรคตับและไต, ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ, โรคหัวใจ, โรคต่อมไทรอยด์, โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ ฯลฯ หรือในกรณีมีการรับประทานยาบางชนิดอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนทาน
ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินดี
การรับประทานวิตามินดี หากอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากรับประทานเยอะจนเกินความจำเป็น จนทำให้มีปริมาณดีที่สูงมากจนเกินไป อาจทำให้มีอาการข้างเคียงและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังต่อไปนี้
- ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ส่งผลต่อระบบการทำงานของไตและหัวใจทำงานผิดปกติ เกิดนิ่วในไต
- ปวดกระดูก
- คลื่นไส้ อาเจียน ไอ
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก
- น้ำหนักลดหรือไม่อยากอาหาร
- กระหายน้ำ หรือ กลืนอาหารลำบาก
- สมองเบลอ สับสน รู้สึกตัวลดลง
- มีอาการคัน เป็นผื่น หรือลมพิษ
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด อาการบวมบริเวณใบหน้า คอ ลิ้น ต้องรีบพาพบแพทย์โดยด่วน!
Refference : http://www.smj.ejnal.com , https://www.pobpad.com
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography