โรคหลอดเลือดสมอง หรืออาการ Stroke (สโตรก) เป็นหนึ่งใน กลุ่มโรค NCDs (Noncommunicable diseases) หรือโรคไม่ติดต่อ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประชาชนไทย อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (30-69 ปี) จากโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 ถึงปีพ.ศ. 2559 หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และคงที่ในปี พ.ศ. 2561
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงที่สุด เท่ากับ 44.3 รายต่อประชากรแสนคน และพบอัตราการเสียชีวิตในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อีกทั้งยังพบว่า โรคอ้วน หรือ ภาวะน้ำหนักเกิน ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคของระบบต่างๆ มากมาย (obesity-related comorbidity) อีกด้วย
โรคอ้วนลงพุง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
โรคอ้วน หรือ ภาวะน้ำหนักเกิน ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคของระบบต่างๆ มากมาย (obesity-related comorbidity) เช่น
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง
- ระบบทางเดินหายใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคกรดไหลย้อน ไขมันเกาะตับ
- ระบบต่อมไร้ท่อ และนรีเวช เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
- ระบบข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ข้อเสื่อม เก๊าท์
- เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น เต้านม มดลูก/ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับอ่อน ไต ต่อมลูกหมาก
- รวมไปถึงผลสุขภาพจิต เช่น รู้สึกเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
คนที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือเป็น โรคอ้วน ลงพุง จะมีความสัมพันธ์กับการเกิด โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะอ้วน ซึ่งในภาวะปกติอินซูลินจะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด แต่เมื่อเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เลยทำให้การขยายตัวของหลอดเลือดลดลง การหดตัวของหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น และเกิดความดันโลหิตสูงตามมา
นอกจากนี้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินและมีภาวะอ้วนลงพุง จะมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญไขมัน ซึ่งประกอบด้วย
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
การมีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง (triglyceride) มีการลดลงของไขมันดี หรือเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-C) และการเพิ่มปริมาณของไขมันเลว หรือแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) หรือมีความเสื่อมสภาพ และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ที่พบบ่อยคือโรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral arterial disease) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการที่เรามีน้ำหนักตัวมากผิดปกตินั้น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เนื่องด้วยกลไกของร่างกายที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน เกิดการเพิ่มขึ้นของไขมันเลว สุดท้ายเกิดการเสื่อมสภาพของเส้นเลือด จนทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงที่สุด
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย
แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ ภาวะสมองขาดเลือด ( Ischemic Stroke )
หรือที่เรียกกันว่า เส้นเลือดในสมองตีบ สาเหตุหลักๆ มาจาก การเสื่อมสภาพของหลอดเลือด การสะสมของไขมัน หรือหินปูน บริเวณผนังหลอดเลือดชั้นในเป็นเวลานาน จนหนา แข็ง ทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้หลอดเลือดค่อยๆ ตีบและแคบลง และเป็นอาการที่พบในผู้ป่วยมากถึง 80% เลยทีเดียว
2. โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือ ภาวะหลอดเลือดสมองแตก ( Hemorrhagic Stroke )
เส้นเลือดในสมองแตก หรืออีกชื่อคือ “ภาวะเลือดออกในสมอง” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดเปราะและโป่งพอง , ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น เมื่อเกิด ภาวะเลือดออกในสมอง จะส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ เพราะเลือดคั่งในสมอง
- ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack -TIA) ภาวะนี้จะมีอาการค้ลายกับโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน แต่จะเป็นเพียงชั่วคราว หรือระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ความน่ากลัวก็คือ หากมีการต้องรีบเข้าส่งรักษาตัวกับแพทย์โดยทันที เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้
เส้นเลือดในสมองตีบ & เส้นเลือดในสมองแตก
อาการ stroke (โรคหลอดเลือดสมอง)
เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก อาการที่แสดงออกนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งว่าเกิดความผิดปกติของสมองที่ส่วนใด เช่น
- แขนขามีอาการอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก ข้างใดข้างหนึ่ง
- ปากเบี้ยว
- ตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองเห็นทางครึ่งซีกด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน
- พูดไม่ชัด มีความผิดปกติของภาษา โดยอาจคิดคำพูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ
- เวียนศีรษะบ้านหมุน
- ตามองเห็นภาพซ้อน
- เดินเซ
- ปวดศีรษะรุนแรง มีคลื่นไส้ อาเจียน
- ซึมลง หมดสติ
ซึ่งอาการต่างๆ นี้จะเกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาจเป็นชั่วคราวแล้วหายก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการต่างๆ เหล่านี้ จึงควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา
ปัจจัยเสี่ยง หรือ สาเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง
มักเกิดในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ความอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย การดื่มสุรา ประวัติโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัว เป็นต้น
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ เส้นเลือดเสื่อมสภาพ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก หรืออื่นๆ ตามมาได้
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
การป้องกัน โรคหลอดเลือดสมอง
การควบคุมปัจจัยเสี่ยง สามารถป้องกันได้โดยการดูแลรักษาสุขภาพ
- การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก
- ลดความเครียด
- หยุดการดื่มสุรา
- หยุดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
- การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากพบปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
การรับประทานยา เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตันซ้ำ อีกทั้งเมื่อมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองจะต้องมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
เพราะฉะนั้นจากคำถามที่ว่า ทำไมคนที่มีน้ำหนักมาก ถึงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ง่ายกว่าคนผอม?
คำตอบ คือ : ก็เป็นเพราะว่าคนที่มีน้ำหนักมาก หรือคนอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งจากตัว โรคอ้วน เองด้วย และยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคต่างๆ ดังที่กล่าวไป ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกัน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนผอมจะไม่เป็นโรคเหล่านี้ เพียงแค่มีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่าเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography