SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ โรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดโรคจะแสดงอาการป่วย เกิดความผิดปกติในอวัยวะต่างๆ ในเวลาเดียวกัน หรืออาจต่างเวลากันก็ได้ รวมถึงระยะเวลาของอาการก็จะต่างกัน วันนี้เรามาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง คืออะไร ?
SLE หรือ โรคเอสแอลอี ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus ในบางครั้งก็อาจจะเรียกว่า “โรคลูปัส” ซึ่งโรคเอสแอลอีเป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (autoimmune rheumatic disease) โดยจะมีความหมายใน 2 ลักษณะ ได้แก่
- โรคที่ผิวหนังเท่านั้น (cutaneous lupus erythematosus)
- โรคที่เกิดในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Systemic Lupus Erythematosus; SLE)
โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แต่ในคนไข้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง เม็ดเลือดขาวจะกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ที่มันไปทำลาย และสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย
ในโรคเอสแอลอี ถึงแม้ว่าอาจจะมีอาการได้ในหลายระบบ เช่น ข้อ เลือด ไต สมอง หรือผิวหนัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยคนหนึ่งจะต้องมีอาการของทุกระบบดังกล่าว ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการแค่บางระบบเท่านั้น
โรคเอสแอลอี เกิดจากอะไร ?
โรคแพ้ภูมิตัวเอง โดยจะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย เชื้อโรคบางอย่าง ยาบางชนิดฮอร์โมนเพศ แสงแดด เป็นต้น
อาการของโรค SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
อาการทางผิวหนัง
- มีผมร่วง
- มีแผลในปาก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ
- ผื่นแพ้แสง เวลาถูกแสงแดดจะมีปฏิกิริยามากกว่าปกติ
- มีผื่นรูปผีเสื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูก
- ผื่นเป็นวงที่หู
อาการทางระบบข้อและกล้ามเนื้อ
- มีอาการปวดข้อ
- ข้อบวมอักเสบ มี แดง ร้อน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ระบบไต
- ปัสสาวะมีฟองมาก ขาบวม
ระบบเลือด
- โลหิตจางมีอาการซีด อ่อนเพลีย
- เกล็ดเลือดต่ำมีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง
- เม็ดเลือดขาวต่ำ
อาการในอวัยวะอื่นๆ
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- เยื่อยุปอดอักเสบ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- อาการชัก
- อาการชา
- ประสาทหลอน ซึมเศร้า สับสน
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- เป็นไข้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ จนถึงไข้สูง
- เบื่ออาหาร
การวินิจฉัยโรคเอสแอลอี
การยืนยันวินิจฉัยโรคเอสแอลอี บางครั้งก็วินิจฉัยได้ยาก เพราะในบางกรณี อาจจะต้องทำการตรวจและสังเกตอาการอยู่นาน เพราะลักษณะของโรคที่อาจจะมีอาการน้อย หรือมีอาการที่ไม่ได้จำเพาะที่พบแต่ในโรคเอสแอลอีเท่านั้น ซึ่งก็จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น ที่มีอาการคล้ายๆ กันด้วย นอกจากนี้การวินิจฉัยโรคเอสแอลอียังต้องอาศัยหลักฐานลักษณะอาการร่วมกันกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อการวินิจฉัยโรค
SLE มีวิธีรักษาอย่างไร ?
สำหรับการรักษาโรคเอสแอลอี มีวิธีรักษาด้วยยา จะมียาลดการอักเสบของข้อ ลดการเจ็บปวด นอกจากนี้อาจจะมียาช่วยในการปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานเหมือนปกติมากยิ่งขึ้น ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิ
ส่วนการรักษาอื่นในผู้ทีมีอาการข้อปวดบวม ข้อติดขัด อาจจะมีการแช่ในน้ำอุ่น ขยับมือและขยับข้อในน้ำอุ่น ซึ่งทำให้ข้อนั้นลดความฝืด ลดความปวดได้ดีขึ้น
วิธีการดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสโรคกำเริบ
- ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
- ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- งดสูบบุหรี่/ดื่มสุรา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ล้างมือบ่อยๆ
- เลี่ยงแดด เพราะรังสียูวี (UV) ในแสงแดด อาจกระตุ้นให้โรคกำเริบได้
- ควรทาครีมกันแดด SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกัน UVB และเลือกครีมกันแดดที่ป้องกัน UVA ในระดับ ++ ขึ้นไป
- ห้ามตั้งครรภ์โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคกำเริบมากขึ้นได้ และต้องหยุดยาที่ทานเพื่อควบคุมโรคบางชนิดก่อนการตั้งครรภ์
- คุมกำเนิดด้วยวิธีที่เหมาะสม ได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด ไม่แนะนำให้รับประทานยาคุมกำเนิด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคกำเริบจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในขนาดที่ใช้ในยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน ไม่แนะนำคุมกำเนิดโดยการนับวัน เพราะมีโอกาสผิดพลาดสูงมาก
- ห้ามขาดยา ปรับยา หรือหยุดยาเอง ยกเว้นกรณีแพ้ยา หากกังวลหรือมีอาการข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์
อ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติม
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography