ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous cyst) คืออะไร? หรือจะเรียกว่า Keratin cyst/ Epidermoid cyst/ Epidermal inclusion cyst เป็นซีสต์ของผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด ที่มีผนังคล้ายผิวหนังกำพร้า สามารถผลิตขี้ไคล (keratin) เข้าไปในถุงซิสต์ได้ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนซีสต์ที่มีสารสีขาวคล้ายชีส (Cheese) หรือไขมันอยู่ภายใน ซึ่งที่จริงแล้วซีสต์ชนิดนี้เกิดจากส่วนบนของรูขุมขน (Follicular infundibulum) สาเหตุเชื่อว่าเกี่ยวกับการแตกของรูขุมขนแล้วก่อให้เกิดซีสต์ตามมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไขมันตามที่เรียกกันว่า Sebaceous cyst และไม่ได้เกิดมาจากต่อมไขมันแต่อย่างใด
ซีสต์ - ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง เกิดจากอะไร ?
สาเหตุที่เซลล์ผิวหนังชั้นนอกไปอยู่ผิดที่นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคการ์ดเนอร์ซินโดรม (Gardner’s Syndrome) โรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด (Basal Cell Nevus Syndrome) หรือเซลล์ผิวหนังอยู่ผิดตำแหน่งแต่กำเนิด
- การบาดเจ็บของผิวหนังจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเกิดแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าตัด สิว รอยขีดข่วน เมื่อมีการซ่อมแซมเซลล์ผิวหนัง อาจทำให้เซลล์ต่างๆ เกิดขึ้นผิดที่ได้
- การอุดตันของท่อไขมันหรือต่อมเหงื่อ
- การได้รับรังสียูวี (Ultraviolet light) หรือแสงแดดแรงๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
อ่านเพิ่มเติม : NK Cells คืออะไร? ภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ฆ่าเชื้อไวรัสและกำจัดเซลล์มะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงให้เกิด ซีสต์
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงแน่ชัด แต่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเป็นสองเท่า และพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 30-40 ปี นอกจากนั้น คือ พบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีประวัติเป็นสิวมาก
ซีสต์ ไขมันใต้ผิวหนัง มีอาการอย่างไร?
ซีสต์ไขมันผิวหนัง จะมีลักษณะมองเห็นและคลำได้เป็นก้อนกลม ขอบเรียบ สีเดียวกับผิวหนัง (Skin-colored cystic nodule) มักจะพบรูเปิด ก้อนซีสต์มีได้หลายขนาด ตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนถึงเป็นหลายๆเซนติเมตร (0.5-5 ซม.) อาจมีก้อนเดียว หรือหลายๆ ก้อน
ก้อนสามารถจับให้เคลื่อนไปมาได้เล็กน้อย พบได้ทุกบริเวณของผิวหนัง ทั้งใบหน้า หนังศีรษะ แขนขา ลำตัว และอวัยวะเพศ มักไม่มีอาการ ในบริเวณอัณฑะ (Scrotal cyst) สามารถพบซิสต์ได้หลายจุด และมักมีลักษณะแข็งมีหินปูนเกาะ (Calcification)
เมื่อเป็น ซีสต์ เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
หากมีก้อนผิดปกติที่ผิวหนังที่โตตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป สามารถพบแพทย์เพื่อทำการตรวจได้ เนื่องจากก้อนที่ผิวหนังนั้นมีหลายประเภท เช่น ก้อนเนื้องอกไขมัน ก้อนเนื้อพังผืดสิว หรืออาจต้องแยกจาก ก้อนต่อมน้ำเหลือง หรือ ก้อนมะเร็งผิวหนัง เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
ซึ่งหากไม่สามารถยืนยันการวินิจฉัยจากการตรวจโดยการดูจากภายนอกได้ แพทย์มักแนะนำผ่าตัดซีสต์เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่า เป็นซีสต์หรือก้อนสาเหตุจากอะไร
วิธีรักษาก้อนไขมันใต้ผิวหนัง - ซีสต์
เนื่องจาก ซีสต์ไขมันผิวหนังไม่มีอาการ และไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง จึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากต้องการกำจัดก้อนซีสต์ สามารถทำได้โดยการผ่าตัดโดยต้องเอาถุงซิสต์ออกให้หมด
เพราะถ้ายังมีถุงอยู่ก็สามารถเป็นก้อนซ้ำได้อีกในตำแหน่งเดิม อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อ การรักษาคือการให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการผ่าเอาสารภายในซีสต์หรือหนองออกก่อน อาจร่วมกับการฉีดยาต้านการอักเสบเข้าไปในซีสต์ด้วย
วิธีดูแลตนเอง หลังการรักษา ซีสต์
การดูแลตนเองเมื่อเป็น ซีสต์ไขมันผิวหนัง คือ ไม่ควรพยายามกดสารสีขาวออกจากซีสต์ด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ และถ้ากังวลในการมีก้อนซีสต์ หรือเมื่อซีสต์โตขึ้น ควรพบแพทย์
ซีสต์ ไขมันใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบได้จากซีสต์ไขมันผิวหนัง คือ การติดเชื้อในซีสต์ ก่อให้เกิดอาการ บวม แดงเจ็บที่ก้อน อาจมีไข้ได้
อย่างไรก็ตาม ซีสต์ในลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นอันตราย แต่อาจเสี่ยงเกิดความผิดปกติหรือกลายเป็นมะเร็งได้ โดยผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดหากสังเกตพบอาการดังต่อไปนี้
- ก้อนซีสต์ขยายใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร
- มีก้อนซีสต์โตขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วหลังจากผ่าออกไปแล้ว
- พบสัญญาณการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มีอาการปวด เกิดรอยแดง มีหนอง เป็นต้น
แล้วจะป้องกัน ซีตส์ ได้อย่างไร?
ไม่มีวิธีป้องกันซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังได้ 100% แต่สามารถลดโอกาสเกิดได้ โดยรักษาความสะอาดผิวหนัง ป้องกันการเกิดสิว หรือแผล รวมถึงใช้เครื่องสำอางผิวทุกชนิดเป็นชนิดปลอดไขมัน (Oil free) และหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด
Ref. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2352047719300401
อ่านเพิ่มเติม : ดูดไขมัน
รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ให้บริการด้านความงามและการรักษา โดยทีมแพทย์เฉพาะทางระดับอาจารย์หลากหลายสาขา ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัยสูงและเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้รับรองมาตรฐานจาก AACI สหรัฐอเมริกา ด้านศูนย์ศัลยกรรมผู้ป่วยนอกแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก 2 ปีซ้อน รวมถึงรางวัลจาก WhatClinic ด้านบริการลูกค้ายอดเยี่ยมระดับสากล เป็นปีที่4 จากลูกค้ากว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ให้ความไว้วางใจและใช้บริการอย่างต่อเนื่อง