ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดในผู้หญิง ส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นตามรอบประจำเดือน โตแล้วยุบหายไปตามรอบเดือน แต่ในบางรายหากมีเลือดออกบริเวณถุงน้ำรังไข่ จนเลือดออกในช่องท้อง อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนได้ เช่น หน้ามืด ช็อกจากเลือดออก ปวดท้องบิด ฯลฯ หรือในบางกรณีที่ ถุงน้ำรังไข่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะเรียกในอีกชื่อว่า ช็อกโกแลตซีสต์
ถุงน้ำรังไข่ คืออะไร
ถุงน้ำ คือ โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นถุงที่มีของเหลวอยู่ภายใน ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวนั้นไปเกิดขึ้นที่รังไข่หรือรอบๆ รังไข่ โดยมีรูปร่างคล้ายกับลูกโป่งใส่น้ำ ซึ่งเราจะเรียกโครงสร้างลักษณะนี้ว่าซิสต์ มีทั้งที่เป็นภาวะปกติและเป็นโรค
ถุงน้ำรังไข่ นั้นส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นตามรอบประจำเดือน โตแล้วยุบหายไปตามรอบเดือน ซึ่งเกิดจากการตกไข่ตามปกติ
หรือถุงน้ำที่เกิดจากการไม่ตกไข่ (Follicular cyst) มักไม่มีอาการและหายได้เองใน 1-3 เดือน อีกชนิดหนึ่งคือ ถุงน้ำที่เกิดหลังจากตกไข่ไปแล้ว (Corpus luteum cyst) มักไม่มีอาการเช่นกัน และสามารถหายได้เองใน 2-3 สัปดาห์
แต่บางรายก็อาจจะมีอาการเสียเลือด หน้ามืด ช็อกจากเลือดออกในก้อน ก้อนแตกจนเลือดออกในช่องท้อง หรือถุงน้ำเกิดการบิดขั้วจนปวดท้องมาก นอกจากนั้นถุงน้ำอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ถุงน้ำจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่รู้จักกันว่าช็อกโกแลตซีสต์ (Endometrioma หรือ Chocolate cyst) โรคนี้มักมีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และอาจมีภาวะมีบุตรยาก รวมทั้งถุงน้ำหรือเนื้องอกรังไข่ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นมะเร็ง (Ovarian tumor) ซึ่งมีหลายชนิด ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่หากโตขึ้นจะทำให้มีอาการอืดแน่นท้องร่วมด้วยได้
อ่านบทความ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
อาการของ ถุงน้ำรังไข่
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ตามปกติถุงน้ำในรังไข่ไม่ได้ทำให้เกิดการป่วย หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่ได้เป็นอันตราย แต่หากถุงน้ำแตกหรือบิดขั้วก็จะมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นได้ และในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้ได้
- ปวดแปลบหรือปวดตื้อๆ บริเวณท้องส่วนล่าง ในข้างที่เกิดถุงน้ำในรังไข่ โดยอาจปวดแบบเป็นๆ หาย ๆ
- ปวดท้องน้อยก่อนหรือในระหว่างที่มีรอบเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อิ่มเร็ว
- หน้าท้องโตขึ้นผิดปกติ
- คลื่นไส้และอาเจียน
- รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่ซีสต์โต และไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ประจำเดือนมามาก หรือมาประปริบกระปรอยผิดปกติ มีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้นทุกเดือน
- ปวดหลังส่วนล่างและบริเวณต้นขา
- เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- เจ็บเต้านม
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการป่วยที่รุนแรง ซึ่งมักแสดงถึงภาวะที่ถุงน้ำในรังไข่แตกหรือรังไข่บิดขั้ว ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ปวดท้องหรือปวดท้องน้อยรุนแรงอย่างฉับพลัน ปวดท้องร่วมกับมีไข้หรืออาเจียน มีไข้ ผิวแตกลอก หายใจเร็ว หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง เป็นต้น
ชนิดของ ถุงน้ำรังไข่
1. ถุงน้ำรังไข่ธรรมดา (Functional Cyst)
หรือถุงน้ำชนิดที่ไม่เป็นโรค เกิดจากรังไข่จะสร้างถุงน้ำขึ้นมาเพื่อรองรับการตกไข่ในแต่ละเดือน ถุงน้ำนี้เรียกว่าฟอลลิเคิล (Follicle) เมื่อร่างกายถึงช่วงตกไข่ ถุงน้ำจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน รวมทั้งปล่อยไข่ออกมา ทั้งนี้ถุงน้ำจะมีขนาดโตขึ้นในแต่ละเดือนเป็นบางครั้ง ถุงน้ำรังไข่ธรรมดาไม่เป็นอันตรายใด ๆ อาจเกิดอาการเจ็บปวดบ้าง แต่ถุงน้ำจะหายไปได้เอง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1.1 ถุงน้ำที่รังไข่ (Follicular Cyst) ช่วงที่ผู้หญิงเกิดรอบเดือนนั้น ไข่จะเจริญขึ้นในถุงน้ำซึ่งเรียกว่าฟอลลิเคิล โดยถุงน้ำนี้อยู่ภายในรังไข่ ส่วนใหญ่แล้ว ถุงน้ำจะแตกออกและปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่แตกออกมา ของเหลวที่อยู่ภายในถุงน้ำจะก่อตัวเป็นซีสต์ภายในรังไข่
1.2 ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum Cyst) ปกติแล้ว ถุงน้ำมักละลายหลังจากที่ปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่ละลายและถุงน้ำไม่เปิดออก จะเกิดการสะสมของเหลวภายในถุงน้ำ ก่อให้เกิดซีสต์ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม
อ่านบทความ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
2. เนื้องอกรังไข่
ก็จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงไม่ใช่มะเร็ง และชนิดร้ายแรง ชนิดเดียวกับมะเร็ง ซึ่งโดยส่วนมากเนื้องอกแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะที่แพทย์สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด เช่น
- ถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ซึ่งภายในถุงน้ำมักจะมีน้ำ ไขมัน เส้นผม รวมทั้งกระดูกและฟัน ตรวจพบได้ด้วยการเอ็กซเรย์ดูหรือตรวจอัลตราซาวด์
- ถุงน้ำเนื้องอกซีสตาดีโนมา (Cystadenomas) ซีสต์ชนิดนี้เกิดจากเนื้อเยื่อรังไข่ โดยภายในถุงน้ำจะบรรจุของเหลวหรือเมือก
ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์และถุงน้ำเนื้องอกซีสตาดีโนมาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งไปเบียดรังไข่ให้หลุดไปจากตำแหน่งเดิมที่เคยยึดอยู่กับอุ้งเชิงกราน ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเกิดภาวะรังไข่บิดขั้ว (Ovarian Torsion) ได้
ส่วนเนื้องอกชนิดที่เป็น มะเร็งบางชนิด จะมีการสร้างสารเคมีที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสูง มาก ๆ ในกระแสเลือดได้ เช่น CA-125 ก็ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยล่วงหน้าถึงโอกาสที่จะทำให้เป็นมะเร็งได้
3. ถุงน้ำที่มีลักษณะคล้ายเนื้องอก
ถุงน้ำที่มีลักษณะคล้ายเนื้องอก คือ ถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ โดยไปเกิดขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกที่เกาะอยู่ที่รังไข่จะทำให้รังไข่อักเสบ กลายเป็นถุงน้ำ (Endometriotic cyst) ที่มีของเหลวภายในคล้ายเลือดเก่า สีข้น คล้ายช็อกโกแลต ทำให้เรียกกันว่า ช็อกโกแลตซีสต์ นั่นเอง
อ่านบทความ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
4. ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome)
ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางเชื้อชาติ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหรือหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า เกิดจากสาเหตุใดเป็นหลัก แต่กลไกผิดปกติหลัก คือ
https://www.endocrineweb.com/professional/meetings/its-time-rename-polycystic-ovary-syndrome
1. มีความผิดปกติที่ทําให้เกิดภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ เกิดระดูไม่สม่ำเสมอ อาการที่พบ ได้แก่ระดูมาห่าง คือการมีรอบระดูน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี หรือมีช่วงระยะเวลาระหว่างรอบระดูนานกว่า 35 วัน หรืออาจมีระดูออกกะปริบกะปรอยหลังจากที่มีการขาดหายของระดูหลายรอบเดือน และนํามาสู่ภาวะมีบุตรยาก
2. มีความผิดปกติของระดับหรือการทํางานของฮอร์โมนเพศชาย ทําให้มีอาการแสดงออก คือหน้ามัน สิวขึ้นง่าย ขนดก เป็นต้น
3. มีความผิดปกติของการทํางานของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเกียวข้องกับขบวนการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย ทําให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน มีภาวะอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุงอาจพบรอยดําตามข้อพับ เช่น ต้นคอ ซอกรักแร้ ใต้ราวนม
กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS) ถือเป็นโรคเรื้อรังในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ไม่มีคําตอบว่าจะใช้เวลารักษานานเท่าใดจึงจะหายจากโรค มีอาการและอาการแสดงออกในแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ ถ้าไม่ได้รับวินิจฉัยและการรักษาอย่างต่อเนื่อง
อ่านบทความ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
วิธีการตรวจวินิจฉัย อาการ ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)
กรณีที่ผู้ป่วยยังเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ การตรวจสุขภาพทั่วไปหรือตรวจเพราะมีอาการปวดท้องน้อย แพทย์มักจะตรวจโดยใช้อัลตราซาวด์ที่ท้องน้อย โดยให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมากๆ เสียก่อนถึงจะทำให้เห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน โดยบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวด์ ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น
หัวตรวจอัลตราซาวด์ที่ใช้ตรวจทางช่องคลอดหรือทวารหนักในปัจจุบันนั้น จะเป็นหัวตรวจขนาดเล็กประมาณเท่านิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บแก่ผู้ถูกตรวจ นอกจากแพทย์จะตรวจภายในและอัลตราซาวด์แล้ว ยังมีการซักประวัติของอาการที่ผิดปกติต่าง ๆ รวมทั้งประวัติการมีประจำเดือนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการวินิจฉัยโรค
การรักษา ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำรังไข่ บางรายอาจไม่ต้องทำอะไรเพียงแค่ตรวจติดตาม บางกรณีใช้ฮอร์โมน แต่บางรายอาจต้องผ่าตัด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี
โดยหากตรวจพบจะได้รับการดูแลรักษาเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากตัวก้อน เช่น ถุงน้ำแตกจนตกเลือด ติดเชื้อในช่องท้อง ถุงน้ำบิดขั้ว ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้แล้วมักจะได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน และหากเป็นเนื้องอกถุงน้ำรังไข่จะได้ทำการดูแลรักษาก่อนที่ก้อนจะโต หรือเป็นระยะลุกลาม
ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในสตรี หรือตรวจเช็คถุงน้ำรังไข่ ด้วยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี โดยหากพบว่ามีถุงน้ำรังไข่ แพทย์จะได้ให้คำแนะนำการรักษาที่เหมาะสม และหมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไป
Ref.
-
https://www.si.mahidol.ac.th
-
https://www.pobpad.com/
-
https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-797
-
http://www.student.chula.ac.th
-
https://www.mayoclinic.org
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography