อ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เป็นโรคที่พบมาก และกำลังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากโรคนี้จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โรคไขมันในเลือดผิดปกติ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
คนที่เป็นโรค อ้วนลงพุง
อ้วนลงพุง หรือ มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) หมายถึง คนที่ มีความผิดปกติในด้านการเผาผลาญพลังงาน (metabolism) ที่ประกอบด้วยอาการต่างๆ ดังนี้
- เริ่มจากอ้วนลงพุง (Central Obesity) ซึ่งต่อมาทำให้เกิดความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด (impaired fasting blood glucose) และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance)
- ร่วมกับการมีไขมันในเลือดผิดปกติ (เอชดีแอลโคเลสเตอรอลต่ำ (HDL), ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง)
- ความดันโลหิตสูง
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (DM type 2)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
สาเหตุและปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรค อ้วนลงพุง
การเกิดโรคอ้วนลงพุงมีสาเหตุหลักๆ อยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่ ภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน เนื่องจากคนที่เป็นโรคอ้วนลงพุง จะมีไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมาก (visceral fat) ซึ่งไขมันในช่องท้องเหล่านี้ จะทำให้ฮอร์โมนที่สำคัญชนิดหนึ่งลดลง (adiponectin) การมีระดับฮอร์โมนอดิโพเนคตินในเลือดต่ำมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเป็นตัวทำนายการเกิดโรคเบาหวานรวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากงานวิจัยที่เกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนลงพุง พบว่า คนที่เป็นโรคอ้วนลงพุง จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สูงกว่าคนปกติถึง 2.4เท่า
โรค อ้วนลงพุง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
1. โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) โรคอ้วนลงพุงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูงโดยมีสาเหตุหลักมาจาก ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะอ้วน ซึ่งในภาวะปกติอินซูลินจะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด แต่เมื่อเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เลยทำให้การขยายตัวของหลอดเลือดลดลง การหดตัวของหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น และเกิดความดันโลหิตสูงตามมา
2. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) เนื่องจากผู้ที่มีโรคอ้วนลงพุงส่วนมาก พบว่า จะมีน้ำหนักตัวเกินและมีภาวะอ้วน ซึ่งจะมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญไขมัน
ประกอบด้วย การมีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง(triglyceride) มีการลดลงของไขมันดี หรือเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-C) และการเพิ่มปริมาณของไขมันเลว หรือแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C)
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) หรือมีความเสื่อมสภาพ และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ที่พบบ่อยคือโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral arterial disease) เป็นต้น
3. โรคเบาหวาน (diabetes) จากการศึกษาพบว่าโรคอ้วนลงพุงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โดยพบว่า ผู้ที่อ้วนเล็กน้อยจะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า แต่หากอ้วนในระดับปานกลางจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า และหากอ้วนมากๆ จะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้ถึง 10 เท่า
โดยในคนอ้วนพบว่าจะมีการสะสมของไขมันบริเวณเอว หรือบริเวณหน้าท้องที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุง เนื่องจากกระบวนการเผาผลาญไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ที่สะสมอยู่ในมันในช่องท้อง (visceral fat) จะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมันอิสระในกระแสเลือดมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ตามมา
4. โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease: CVD) โดยพบว่าผู้ที่มีโรคอ้วนลงพุงจะมีการเพิ่มขึ้นของระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) มีปริมาณฮอร์โมนอดิโพเนคติน (adiponectin) ในเลือดลดลง ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนปกติถึง 5 เท่า
โดยระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นร่วมกับการมีภาวะไขมันในหลอดเลือดสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง และหลอดเลือดหัวใจตีบแคบจากการสะสมของไขมัน เกิดความดันโลหิตสูงตามมา ซึ่งโรคอ้วนลงพุงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ (atherosclerotic cardiovascular disease, ASCVD)
บทความที่น่าสนใจ
5. โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease) ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้สูงกว่าผู้ที่ไม่เป็น 2.5 เท่า เนื่องจากภาวะระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดที่สูงกว่าปกติร่วมกับสารเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ (IL-6 และ TNF) มีผลทำลายหลอดเลือดฝอยในไต และทำให้เกิดพังผืดที่ไตตามมา
6. โรคมะเร็ง (cancer) ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลงพุง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคมะเร็ง จากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในเยื่อบุมดลูก รังไข่ ปากมดลูก และมะเร็งเต้านม พบว่ามีความสัมพันธ์กับเพศหญิงที่มีน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน
วิธีป้องกันโรคอ้วน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะช่วยลดการสะสมของพลังงานในร่างกายได้เป็นอย่างดี
- เมื่อเริ่มรู้สึกว่าน้ำหนักเพิ่มมากจนเกินไป ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป
- ควรลดอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น อาหารจำพวกของมันของทอดทอด และอาหารรสหวาน
- ควรจำกัดปริมาณการทานอาหารในแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการควบคุมอาหารให้แก่ร่างกายได้มีน้ำหนักที่อยู่ในระดับปกติ
- ใส่ใจและหมั่นดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
โรคอ้วนลงพุง เป็นสัญญาณเตือนถึงอันตราย เนื่องจากเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มากมาย กรณีที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาการ ออกกำลังกายให้เหมาะสม พยายามลดน้ำหนัก
แต่สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยแล้วการไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แต่โรคเหล่านี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิตได้อีกมากมาย
Ref. Metabolic Syndrome : Dangerous signs required management (ศรีนครินทร์เวชสาร 2561; 33(4): 386-95. Srinagarind Med J 2018; 33(4): 386-95.)
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์