ไข้หวัดใหญ่ ภาษาอังกฤษ จะเรียกว่า Influenza หรือ Flu ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza Virus ส่งผลทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้ตั้งแต่ในส่วนของจมูก ลำคอ และลงไปได้ถึงปอด โดยปกติแล้วในคนที่ร่างกายแข็งแรง อาการก็จะไม่ได้เป็นรุนแรงมากจนถึงกับทำให้มีอาการแทรกซ้อน แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ได้แก่
- เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน (น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร
อาการไข้หวัดใหญ่นั้น ผู้ป่วยจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ทันทีทันใด โดยจะมีไข้สูง และมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ไข้สูงจะเป็นลักษณะเด่นของโรค ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลียมากกว่าไข้หวัด และต้องการพักผ่อนมากกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก คัดจมูก จาม เจ็บคอ มีเสมหะ ซึ่งถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดา (common cold) อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง จะยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แม้จะมีอาการป่วยรบกวนเป็นระยะ
อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก มักจะมีอาการแตกต่างกันตามอายุ ในเด็กเล็ก ก็มักจะมีไข้สูง ร่วมกับ มีท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และมีอาการชักจากไข้สูงได้ ส่วนในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการของไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
ในกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงคนที่เป็นโรคอ้วน ควรจะไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก็คือ ไข้สูง ปวดเมื่อยมาก และมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่มีอาการของไข้หวัดอยู่ แล้วอาการแย่ลง เช่น ไข้สูงลอยตลอด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะตลอด อ่อนเพลีย และปวดกล้ามเนื้อมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
สาเหตุของไข้หวัดใหญ่ …. ไข้หวัดใหญ่มาจากไหน?
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการสัมผัส เข้าทางปาก หรือสูดหายใจ เอาละอองฝอยเล็กๆ ของน้ำมูกหรือน้ำลาย ที่มาจากการไอและการจามของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อยู่ หรือเราเอามือไปจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสอยู่ แล้วมาจับจมูกหรือปาก ก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-4 วัน
ไข้หวัดใหญ่มีกี่สายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ Influenza Virus โดยการติดเชื้อที่พบในคน คือ สายพันธุ์ A,B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สายพันธุ์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มี 2สายพันธุ์ คือ Victoria และ Yamagata ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาพบการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยก็พบการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สูงขึ้นถึง 13-55 % เช่นกัน
นอกจากนี้ความรุนแรงของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ทั้ง 2 สายพันธุ์ที่พบการระบาดร่วมกันได้แก่ Victoria และ Yamagata ยังส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้พอๆ กับสายพันธุ์ A อีกด้วย
ไข้หวัดใหญ่ มีภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนได้อย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่รักษาอย่างไร
ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ ถ้าหากมีอาการไม่รุนแรง ก็สามารถดูแลตนเองที่บ้านและรักษาตามอาการได้
- พักผ่อนให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และควรหยุดงาน เพื่อจะได้พักผ่อนได้เต็มที่ และไม่แพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
- ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ
- รักษาตามอาการ โดยรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวเมื่อมีไข้ ทานยาลดน้ำมูก แก้ไอ ละลายเสมหะ เมื่อมีน้ำมูกและมีอาการไอ
- รับประทานอาหารอ่อนๆ
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไข้ไม่ลงหรือมีภาวะหายใจเจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบาก
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา
- ไม่จำเป็นต้องซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทาน เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ยกเว้นในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก็ควรไปพบแพทย์
- ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาต้านไวรัสชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเชื้อไวรัส ช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดระยะเวลาที่มีอาการประมาณหนึ่งวันถึงวันครึ่ง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อเกิดภาวะแทรกซ้อนมีความจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ส่วนในกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงหรืออาการไม่เยอะ ยาอาจจะมีประโยชน์ในแง่ลดอาการหากได้รับยาใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ ผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่คือคลื่นไส้อาเจียน ลดอาการข้างเคียงได้โดยรับประทานพร้อมอาหาร
จะป้องกันไม่ให้เป็น ไข้หวัดใหญ่ ได้อย่างไร
- การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลาง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำไมต้องฉีดทุกปี
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรจะฉีดก่อนฤดูที่มีการระบาด ก็คือ ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว และต้องฉีดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่นาน เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนทุกปีจึงเป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน ขึ้นไป จนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนที่เป็นโรคอ้วน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์มีประโยชน์อย่างไร
นอกเหนือจากการปกป้องร่างกายจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง 4 สายพันธุ์แล้ว การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกดังต่อไปนี้
- สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B ครอบคลุมสายพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิม
- ลดอัตราการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่
- ลดปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคอ้วน
- ลดการใช้ยาปฏิชีวนะจากภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่
- ไม่ต้องขาดงานหรือขาดเรียน
อาการหลังจากฉีดวัคซีน อาจจะมีปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย อาการมักเป็นอยู่ประมาณ 1-2 วัน สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล ประคบเย็นบริเวณที่ฉีดเพื่อบรรเทาอาการได้
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography