ริดสีดวง ทวารหนัก เกิดจากอะไร?
ริดสีดวงทวาร เกิดจาก (Hemorrhoids) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย ลักษณะเป็นก้อนนูนออกมาหรือเป็นหัว อาจจะมีได้หลายหัว และอาจจะเป็นพร้อมกันได้หลายแห่ง
การเกิด ริดสีดวง มี 2 สาเหตุหลักๆ คือ
- เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณนั้น
- เกิดจากการเพิ่มความดันต่อกระบังลมด้านล่างนานๆ เกิดได้จากการเบ่งอุจจาระบ่อยๆ จากท้องผูก การยกของหนัก ยืนนาน และการตั้งครรภ์ ทำให้เลือดไหลกลับไม่สะดวก จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้กลุ่มเส้นเลือดโตและยืดออก ทำให้เส้นเลือดบาดเจ็บจากการเบ่งอุจจาระนานๆ ทำให้มีเลือดสดๆ ไหลออกจากจากทวารหนัก
ริดสีดวง ทวาร มีกี่ชนิด ?
ริดสีดวงทวาร แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- ริดสีดวงทวารชนิดภายใน (internal hemorrhoids) คือ ริดสีดวงที่อยู่ใต้ชั้นเยื่อบุลำไส้ จะอยู่ภายในรูทวารหนัก ซึ่งจะตรวจพบเมื่อใช้กล้องส่องตรวจ โดยจะมีลักษณะที่สังเกตง่ายๆ คือ
- จะคลุมด้วยเยื่อบุของทวารหนัก ไม่ใช่ผิวหนังด้านนอก
- จะไม่เจ็บ ถ้าไม่มีการแทรกซ้อน
ริดสีดวงทวารแบบภายใน จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ไม่มีก้อนยื่นออกมานอกทวารหนัก
- ระยะที่ 2 มีก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระ และหดกลับเข้าได้เอง
- ระยะที่ 3 มีก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระ แต่ไม่หดกลับเข้าไปต้องใช้มือช่วยดันกลับเข้าไป
- ระยะที่ 4 มีก้อนยื่นออกมาและไม่สามารถใช้มือดันเข้าไปได้ หรือมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดเฉียบพลันหรือมีการยื่นของเยื่อบุช่องทวารหนักออกมาทั้งหมด
- ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก (External hemorrhoids) คือ ริดสีดวงที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณปากทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ จะเป็นก้อนที่อยู่ข้างนอก ผิวหนังรอบๆ จะถูกดันจนโป่งออกมา ทำให้ผู้ป่วย มักมีอาการคัน และเจ็บมากกว่าริดสีดวงทวารภายใน หลังจากอาการหายไป บางครั้ง ติ่งผิวหนังนั้นอาจจะยังอยู่ กลายเป็นติ่งเนื้อที่เรียกว่า Skin Tag
ริดสีดวง มีอาการอย่างไร ?
สำหรับอาการของโรคริดสีดวงทวาร จะแบ่งอาการของโรคออกเป็น 2 ส่วนตามชนิดของโรค คือ อาการของริดสีดวงภายใน และอาการของริดสีดวงภายนอก รายละเอียดดัง ต่อไปนี้
- โรคริดสีดวงภายนอก อาการของโรค คือ จะมีติ่งเนื้อออกมาจากปากทวารหนัก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด เจ็บ และระคายเคือง โดยปกติแล้วอาการนี้จะหายเจ็บได้ภายใน 2-3 วัน แต่อาการปวดอาจต้องใช้เวลา 2 ถึง 3 สัปดาห์แต่หากหัวริดสีดวงใหญ่ อาจทำให้ระคายเคือง และคันบริเวณปากทวารหนักได้
- โรคริดสีดวงภายใน อาการของโรค คือ มีเลือดออกจากทวารหนัก แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวด โดยมากจะเกิดตอนถ่ายอุจจาระหรือหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ ลักษณะเลือดมีสีแดงสด ปนกับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลหยดลงจากทวารหนัก อาการเหล่านี้จะเป็น ๆ หาย ๆ แต่หากมีอาการเรื้อรัง ทำให้เสียเลือดตัวซีดลงได้ สำหรับผู้ที่เป็นหนัก หลอดเลือดจะบวม จะเห็นหัวริดสีดวงโผล่ออกมาจากทวารหนัก เป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ซึ่งก้อนนี้จะทำให้เกิดอาการปวด และเจ็บ อาจจะทำให้เกิดอาการคัน และกลั้นอุจจาระไม่อยู่ด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด 'ริดสีดวงทวารหนัก' มีอะไรบ้าง ?
- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น ผัก ผลไม้ ร่วมกับดื่มน้ำน้อย
- คนที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ เนื่องจากแรงเบ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
- ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง เพราะการถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แรงเบ่งก็จะเป็นการเพิ่มความดันต่อกระบังลมด้านล่าง
- อุปนิสัยใช้เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระนานๆ เช่น นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือขณะขับถ่าย รวมถึงการเบ่งถ่ายอุจจาระแรงๆ
- การยืน หรือเดินเป็นเวลานานๆ
- การชอบใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ
- ภาวะตั้งครรภ์ ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก มีอาการท้องผูก ร่วมกับน้ำหนักของครรภ์จะกดทับบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือด ไหลกลับไม่สะดวก
- น้ำหนักตัวมาก หรือโรคอ้วน มีผลให้แรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานเพิ่มสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มหลอดเลือดได้
- ผู้สูงอายุ มักจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ง่ายกว่าปกติ
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ทำให้เกิดการกดเบียดทับหรือเกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเรื้อรัง ทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
- อาการไอเรื้อรัง มีผลเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
- ภาวะโรคบางอย่าง เช่น โรคตับแข็ง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง
- กรรมพันธุ์
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
วิธีตรวจ หรือ การวินิจฉัย ริดสีดวง
หลักการวินิจฉัยที่สำคัญคือ การแยกโรคออกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก
- ตรวจดูขอบทวารหนัก ส่วนใหญ่จะปกติหรืออาจเห็นริดสีดวงทวารหนักยื่นออกมา
- การตรวจทวารหนักด้วยนิ้วมือ (PR) ไม่ช่วยวินิจฉัยริดสีดวงทวารหนัก แต่ช่วยตรวจแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายริดสีดวงทวารหนัก โดยเฉพาะก้อนหรือแผลบริเวณทวารหนักหรือภายในลำไส้ตรง (rectum)
- การตรวจด้วยส่องดูทวารหนัก (anoscope) จะตรวจพบหัวริดสีดวงภายในได้ชัดเจน ควรทำเสมอเพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน
- การตรวจด้วยส่องด้วยกล้อง (sigmoidoscope) ควรทำในรายที่มีอายุมาก และจำเป็นต้องทำถ้ามีประวัติขับถ่ายผิดปกติเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นมูก ปนเลือด หรือคลำก้อนได้ภายในทวารหนัก
- การส่งตรวจด้วยสวนสี x-ray ลำไส้ใหญ่ (barium enema) หรือการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ใช้ตรวจในกรณีทีอาการไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไรหรือมีอาการอื่น ๆ รวมทั้งตรวจในผู้ป่วยสูงอายุ
- การตรวจร่างกายตามปกติ
ริดสีดวง มีวิธีรักษาอย่างไร ?
การรักษาโรคริดสีดวง ทวารนั้น แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของโรค และขึ้นกับระยะที่เป็น ซึ่งมีหลายวิธี
ริดสีดวง กรณีที่ไม่รุนแรง ในกรณีนี้ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ แพทย์จะแนะนำวิธีในการดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยา
- โดยเน้นให้มีการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ทานน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการเบ่ง หรือนั่งนาน
- ดูแลบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารให้แห้งและสะอาด
- แช่น้ำอุ่นบริเวณก้นเป็นประจำ ควบคู่กับการทายา
- การรับประทานยาในกลุ่มแก้ปวด เพื่อช่วยให้บรรเทาอาการปวด คัน หรือเจ็บบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารน้อยลง
- การใช้ยาจะเป็นกลุ่มยาที่ทำให้อุจจาระนุ่ม (Stool Softener)
- อาจใช้ยาประเภท Steroid เหน็บทวารเพื่อลดการอักเสบ
ริดสีดวง กรณีขั้นรุนแรง หรืออาการของโรคส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะมีการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม คือ
- การฉีดยา เพื่อให้หลอดเลือดเกิดการตีบและหดตัวกลับเข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดเล็กน้อยขณะฉีดยา
- การใช้ยางรัด เพื่อตัดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ทำให้เกิดการฝ่อและแห้งของริดสีดวงทวารภายใน 1 สัปดาห์
- การจี้ริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ อินฟราเรด หรือเครื่องจี้ไฟฟ้า เป็นการใช้ความร้อนหรือเลเซอร์จี้ไปที่หัวริดสีดวงทวาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการรักษา
การใช้ยางรัด รักษาริดสีดวง
รักษา ริดสีดวง ด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดริดสีดวง เป็นวิธีใช้การรักษาโรคริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะรุนแรง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ
-
- การผ่าตัดเอาริดสีดวงออก เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ให้ผลการรักษาได้ดีและมีโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำน้อย โดยแพทย์จะผ่าส่วนที่เป็นริดสีดวงทวารออก
- การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเย็บติด เป็นการผ่าตัดสำหรับการรักษาริดสีดวงทวารชนิดภายใน ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารจนให้เกิดการฝ่อและหลุดไป โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือคล้ายเครื่องยิงลวดในการตัด เย็บ และผูกหัวริดสีดวง
การรักษาริดสีดวงด้วยวิธีต่างๆ เช่น การรัดห่วง การจี้ด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัดริดสีดวง
ริดสีดวง มีวิธีป้องกันอย่างไร ?
ทางที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงและโอกาสในการเกิดโรคริดสีดวงทวาร คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
- เริ่มต้นด้วยการดูแลเรื่องระบบขับถ่ายให้เป็นนิสัย ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา
- ไม่กลั้นอุจจาระ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายที่ผิดปกติและถ่ายได้ยากมากขึ้น
- ระวังอย่าให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเดิน หรือท้องเสียบ่อย ๆ
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชประเภทต่างๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
- ถ้ามีการปรับวิธีในการรับประทานอาหารที่ยังไม่ได้ผลดีเพียงพออาจมีการรับประทานอาหารเสริมประเภทไฟเบอร์หรือสารที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น
- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย
- ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- ออกกำลังกายให้เพียงพอ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography