เช็คให้ชัวร์! อาการปวดหัว แบบไหนบอกโรคอะไรบ้าง? ความเครียด ไมเกรน เนื้องอกในสมอง

อาการปวดหัว แบบไหนบอกโรคอะไรบ้าง

อาการปวดหัว นั้น เป็นอาการที่พบได้บ่อย ส่งผลทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รบกวนการทำงาน และยังก่อให้เกิดความรำคาญ แต่คนส่วนมากก็อาจจะยังไม่ทราบว่าอาการปวดศีรษะที่กำลังเป็นนั้น เป็นอาการปวดศีรษะธรรมดาที่เกิดจากความเครียด อาการปวดศีรษะไมเกรน หรือมีสาเหตุอื่นๆ ที่รุนแรงกว่านั้นหรือไม่ ซึ่งอาการปวดศีรษะในแต่ละโรค ก็จะมีวิธีการรักษา และการบรรเทาอาการที่ต่างกันออกไปบ้าง และนี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นที่จะช่วยให้เราแยกว่าอาการปวดศีรษะของเรานั้นเกิดจากอะไรกันแน่

อาการปวดหัว มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

โดยทั่วไปเรามักจะแบ่งโรคปวดศีรษะออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary Headache) เป็นกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือคอ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ร้ายแรง โดยมักปวดเป็นๆ หายๆ ช่วงหายจะหายสนิท ได้แก่ ไมเกรน (Migraine), ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type Headache), ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache) เป็นต้น
  2. อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary Headache) เป็นกลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือคอ เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดสมองโป่งพอง หลอดเลือดอักเสบ เลือดออกในสมอง กระดูกคอเสื่อม กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดที่ศีรษะและคอ ต้อหิน โพรงไซนัสอักเสบ โรคบริเวณข้อต่อขากรรไกร การใช้ยา/ถอนยาหรือสารเสพติดบางอย่าง โรคทางจิตใจ เป็นต้น
  3. อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches) เช่น อาการปวดศีรษะที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigeminal neuralgia ) เป็นต้น
อาการปวดหัว แบบไหนบอกโรคอะไรบ้าง? ความเครียด ไมเกรน เนื้องอกในสมอง
กลับสู่สารบัญ

ปวดศีรษะแบบตึงตัว (Tension-type headache)

เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดกับคนที่มีความเครียด ทำงานหนัก เหนื่อย ลักษณะการปวดมักเป็นแบบปวดแน่นแน่น หรือรัดรัดทั้งสองข้างของศีรษะและต้นคอ ความรุนแรงของอาการปวดอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจมีการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ ร่วมด้วยได้ อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากกิจวัตรประจำวัน และมักไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache)

เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และมักได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน โดยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว (อาจพบปวดทั้ง 2 ข้างได้บ้างแต่น้อยกว่า) โดยอาจปวดสลับไปมา ด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้าง ลักษณะปวดตุ๊บๆ ระยะเวลาในการปวดจะนานประมาณ 4 ชั่วโมงไป จนถึง 2-3 วัน

ลักษณะความรุนแรงของอาการปวดจะอยู่ในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะแย่ลงได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นแสงจ้า เสียงดัง การมีประจำเดือน การพักผ่อนน้อย รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น อาหารหมักดอง อาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของผงชูรส คาเฟอีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยเกือบทุกครั้งที่ปวดศีรษะ

อาการปวดหัว ไมเกรน
กลับสู่สารบัญ

ปวดศีรษะแบบกลุ่ม (Cluster headache)

เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง โดยอาการปวดศีรษะชนิดนี้มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ระดับความรุนแรงของอาการปวดศีรษะมักมีอาการปวดที่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย อาการมักเกิดทันที ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตาหรือบริเวณขมับโดยมักจะเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) ร่วมด้วย เช่น มีตาแดง มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก มีเหงื่อออก บริเวณใบหน้าในด้านที่มีอาการปวดศีรษะ

อาการปวดหัว แบบไหนอันตราย ต้องรีบพบแพทย์!

  • ปวดศีรษะครั้งแรกในชีวิต (ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน)
  • ปวดศีรษะรุนแรงมากที่สุดในชีวิต ปวดฉับพลันทันที
  • ปวดศีรษะมากจนต้องตื่นขึ้นจากการนอนหลับ (Awakening headache)
  • ปวดศีรษะข้างเดิมตลอด
  • ปวดศีรษะมากขึ้นเมื่อไอ จาม เบ่ง ออกแรง เปลี่ยนท่าทาง หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปีที่มีอาการปวดศีรษะครั้งแรกหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง, SLE (โรคแพ้ภูมิตนเองหรือลูปัส)
  • ปวดศีรษะจนต้องใช้ยาแก้ปวดปริมาณมากหรือบ่อย
  • ปวดศีรษะมากอย่างเฉียบพลันร่วมกับคอแข็งและ/หรือมีไข้สูง เพราะอาจเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ในผู้ป่วยโรคมะเร็งและเกิดมีอาการปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง
  • ปวดศีรษะภายหลังอุบัติเหตุต่อสมองหรือบริเวณศีรษะ เพราะเป็นอาการของการมีเลือดออกในสมอง
  • ปวดศีรษะมากร่วมกับปวดตามาก ตาแดง และเห็นภาพไม่ชัด เพราะเป็นอาการของ โรคต้อหิน
  • ปวดศีรษะมากร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน และอาจจะมีแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด หน้าหรือปากเบี้ยว เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นอาการของความดันในสมองเพิ่ม อาจเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งสมอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม อารมณ์หรืออาการชัก ซึ่งพบน้อยมากที่ผู้ป่วยเนื้องอกในสมองจะมีเพียงอาการปวดศีรษะอย่างเดียว
อาการปวดหัว เนื้องอกในสมอง
กลับสู่สารบัญ

อาการปวดหัว ของโรคเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor)

เนื้องอกในสมอง  คือ เนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่างๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง ซึ่งอาจรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง จนทำให้มีอาการต่างๆ ตามมา

ตั้งแต่ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ ไปจนถึงอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือลุกลามเป็นมะเร็งในระยะอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ทันการณ์ ซึ่งเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองอาจจะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งเสมอไป

อาการโรคเนื้องอกในสมองที่มักจะสังเกตได้ เช่น มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ หรือปวดหัวเรื้อรัง และอาจปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีอาการคลื่นไส้/อาเจียน ง่วงซึม มีปัญหาในการพูดการสื่อสาร เห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน มีปัญหาในการเคลื่อนไหว การทรงตัว อาจจะมีแขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย รวมถึงมีปัญหาด้านความจำ สับสบ มึนงง มีอาการชัก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน

การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะ / อาการปวดหัว

การวินิจฉัยว่าอาการปวดศีรษะเกิดจากสาเหตุหรือโรคใด สามารถทำได้โดย

  1. ซักถามประวัติอาการปวด เป็นมานานเท่าใด อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง ลักษณะปวดเป็นอย่างไร ปวดตรงไหน ปวดบ่อยแค่ไหน ขณะปวดศีรษะยังทํางานได้ปกติดีหรือไม่ ทําอย่างไรจึงหายปวด มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ในระยะนี้กินยาอะไรอยู่ และมีประวัติได้รับอุบัติเหตุหรือไม่ เป็นต้น
  2. ตรวจร่างกายทั่วไป
  3. ตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  4. การตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด, การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture), เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT brain), การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI brain) หรือตรวจภาพหลอดเลือดสมอง (MRA)

โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีใดบ้าง ซึ่งขึ้นกับโรคที่สงสัย ส่วนการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ มีทั้งการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะ การกินยาแก้ปวดตามอาการ การกินยาป้องกันการปวดศีรษะ การฉีดยา การใช้เลเซอร์ การใส่สายสวนทางหลอดเลือด การผ่าตัด กายภาพบำบัด และปรึกษาสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

อาการปวดหัว แบบไหนอันตราย
กลับสู่สารบัญ

การดูแลตัวเองเบื้องต้น และการป้องกัน อาการปวดหัว

การดูแลตัวเองเบื้องต้น และการป้องกันอาการปวดศีรษะอาจทำได้หลายอย่าง ตัวอย่างเช่น

  • การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยากลุ่มพาราเซตามอล (Acetaminophen) หรือยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่สามารถหาซื้อเองไว้ติดบ้านและมีใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง และควรอ่านฉลากและคำเตือนให้รอบคอบ
  • การประคบเย็นในบริเวณที่ปวด หรือประคบอุ่นในกรณีเป็นไซนัสอักเสบ
  • การนวดหรือกดคลึงบริเวณที่มีกล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไป
  • การหยุดดื่มสุราและสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสาเหตุกระตุ้นอาการปวดศีรษะ ที่พบได้บ่อยๆ เช่น
    • ความเครียด ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียด เช่น อากาศร้อน แสงจ้า กลิ่นบางชนิด เช่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ กลิ่นน้ำหอม
    • ได้รับกาเฟอีนมากหรือน้อยเกินไป เช่น กาแฟวันละเกิน 3 แก้วขึ้นไป หรือน้อยเกินไป เช่น คนที่ทานกาแฟเป็นประจำทุกวันแล้วไม่ได้ทาน
    • นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป นอนไม่หลับ นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ
    • รับประทานอาหารบางชนิด เช่น ชา กาแฟ ชีส ช็อกโกแลต ผงชูรส แอลกอฮอร์

อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคในกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคก็ตาม ก็ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากยา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า