โรคเก๊าท์ (Gout) เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร และควรเลี่ยงอาหารประเภทไหน?

โรคเก๊าท์ เกิดจากอะไร

โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยมาก มีอุบัติการณ์ร้อยละ 1-2 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบอัตราของโรคเก๊าท์เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นอกจากนี้ก็ยังพบเพิ่มขึ้นตามอายุ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 9 เท่า โดยในผู้ชายจะมักพบในวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนในผู้หญิงมักจะเป็นในวัยหลังหมดประเดือน

โรคเก๊าท์ เกิดจากอะไร?

โรคเก๊าท์ เกิดจาก ภาวะกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานานจนทำให้มีการตกผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate crystal) สะสมอยู่ในข้อ ทำให้ข้อเกิดการอักเสบ หากเป็นเรื้อรังจะทำให้ข้อผิดรูปและเสียหน้าที่ในการทำงาน ในรายที่เรื้อรังการเกาะของเกลือโมโนโซเดียมยูเรตจะทำให้เกิดก้อนที่เรียกว่า โทฟัส (Tophus) นอกจากนั้นยังทำให้หน้าที่ของไตเสื่อมและเกิดโรคนิ่วที่ไตด้วย ซึ่งกรดยูริก (uric acid) เปรียบเสมือนของเสียในร่างกายที่เหลือจากการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุลง โดยร่างกายของแต่ละคนจะมีกรดยูริกอยู่ประมาณ 80 % ส่วนอีก 20 % มักได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

โรคเก๊าท์ มีความสัมพันธ์กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก (metabolic syndrome) และโรคเบาหวาน

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงคือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ

  • ผู้ชาย มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ผู้หญิง มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • หรือมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่ออิงตามคุณสมบัติทางเคมีซึ่งมีการตกผลึกของเกลือยูเรตในเนื้อเยื่อเมื่อมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรที่ 37 องศาเซลเซียส

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์อาจจะมีกรดยูริกในเลือดสูงหรือปกติก็ได้ และคนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเก๊าท์เสมอไป คนที่มีระดับกรดยูริกสูงจนทําให้เกิดโรคมีเพียง 10-20 % เท่านั้น โดยเป็นโรคเกาท์ และ/หรือเป็นนิ่วในไต กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเท่านั้นที่จําเป็นต้องได้รับการรักษา

โรคเก๊าท์ รักษาอย่างไร

ปัจจัยที่กระตุ้นให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เสี่ยงเป็น โรคเก๊าท์ ได้แก่

  • ภาวะกรดยูริกสูง สัมพันธ์กับภาวะอ้วน และพันธุกรรมในครอบครัว โดยอาการเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริกขึ้นมามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันก็ลดความสามารถในการกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต
  • การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส อาหารประเภทที่มีไขมันสูง ขนมปัง ขนมเค้ก น้ำหวาน และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน อาจเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือดได้ ส่วนสัตว์ปีก และ สัตว์เนื้อแดงที่มีปริมาณไขมันน้อย ไม่จําเป็นต้องงด ยกเว้นในผู้ป่วยรายที่มีประวัติว่ามีการกําเริบชัดเจนหลังรับประทานอาหารดังกล่าว สําหรับ อาหารมังสวิรัติ และผักส่วนใหญ่มีปริมาณกรดยูริกค่อนข้างน้อย สามารถรับประทานได้ตามปกติ
  • อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) โรคสะเก็ดเงิน
  • การใช้ยาบางชนิด ที่ส่งผลให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง เช่น ยาขับปัสสาวะ และยาแอสไพริน

ดังนั้นควรลดน้ำหนักตัว งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดปริมาณอาหารที่มีกรดยูริกสูงลง

บทความที่น่าสนใจ

  • ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อน จากภาวะน้ำหนักตัวเกิน เก๊าท์ เบาหวาน ไขมันในเลือด ฯลฯ

การวินิจฉัยโรคเก๊าท์

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบในโรคเกาต์ที่แน่นอน (definite) คือ การตรวจพบผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate crystal) จากน้ำไขข้อหรือก้อนโทฟัส โดยมีลักษณะเป็นรูปเข็มเมื่อตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ ในระยะที่มีการอักเสบเฉียบพลันจะพบผลึกดังกล่าวอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาว

ในกรณีที่ไม่สามารถทำการตรวจน้ำไขข้ออาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเกาต์ของ Rome (Rome criteria) โดยอาศัยเกณฑ์   2 ใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ข้อบวมเจ็บซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและหายภายใน 2 สัปดาห์
  2. ระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิง
  3. พบก้อนโทฟัส (tophus)
โรคเก๊าท์ อันตรายอย่างไร

อาการโรคเก๊าท์

แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute gouty arthritis) มักเกิดทีข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า โดยจะมีอาการปวดบวมแดงรุนแรงที่ข้อใน 24 ชั่วโมงแรก หากไม่รักษาสามารถหายได้เองใน 5-7 วัน และส่วนใหญ่จะเป็นซ้ำๆ
  2. ระยะสงบ (intercritical gout) คือ ระยะที่ไม่มีข้ออักเสบหรือหายจากข้ออักเสบ ซึ่งเป็นช่วงระหว่างการอักเสบในแต่ละครั้ง
  3. ระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (chronic tophaceous gout) หลังจากมีอาการเรื้อรัง อักเสบซ้ำๆ หลายปี ข้ออักเสบจะมีจํานวนมากขั้นลามมาที่ข้ออื่นๆ และก้อนจากผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรตก็มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าก้อนแตก อาจจะเห็นเป็นผงขาวนวลคล้ายชอล์ก

โรคเก๊าท์ระยะเรื้อรัง

อาการโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ รักษาอย่างไร?

จุดประสงค์ของการรักษาโรคเกาท์ คือ

  1. ลดการอักเสบเฉียบพลันของข้อ
  2. ลดความถี่ของข้ออักเสบ
  3. ลดขนาดของก้อนโทฟัสและทำให้ก้อนโทฟัสหายไป
  4. ลดการทำลายข้อและป้องกันความผิดรูปของข้อ
  5. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไต ที่มีสาเหตุมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยา (Non-pharmacological therapy)

การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์ และการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง แนวทางการรักษาที่ใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

  • ลดการรับประทานอาหารที่มีสารพูรีน (purine) สูง เช่น
    – อาหารทะเล กะปิ หอย เนื้อแดงสัตว์ปีกยีสต์ ปลาซาดีน ปลาซาดีนกระป๋อง เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา น้ำซุบสกัดจากเนื้อสัตว์ น้ำเคี่ยวเนื้อ (Meat extracts) น้ำเกรวี (Gravies)
    – ถั่วบางอย่าง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา
    – ผักบางอย่าง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง แอสพารากัส กระหล่ำดอก ผักขม เห็ด
  • ลดผลไม้รสหวาน และเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโตส
  • ลดการดื่มสุรา (โดยเฉพาะเบียร์)
  • ลดอาหารประเภทไขมันสูง เช่น ขนมปัง ขนมเค้ก น้ำหวาน เครื่องดื่มพวกโกโก ช็อคโกแลต
  • สามารถรับประทานนมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงได้เนื่องจากสารพูรีนจากพืชจะเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือดไม่มาก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายที่มีโรคเกาต์กำเริบขึ้นภายหลังจากการรับประทานอาหารบางชนิดก็จะแนะนำให้งดอาหารชนิดนั้นๆ ไป
  • มีข้อมูลว่าการรับประทานวิตามินซี 500 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดลงได้บ้างแต่ควรระมัดระวังการใช้ในระยะยาว เนื่องจากอาจทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะตามมาได้
เก๊าท์ ห้ามกินอะไร? ควรกินอาหารประเภทไหน?
  1. รักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาท์
  • เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การลดน้ำหนักควรลดแบบช้าๆ การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกินไปอาจทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นและทำให้เกิดข้ออักเสบกำเริบตามมาได้
  • ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะอยู่ ควรเปลี่ยนยาขับปัสสาวะเป็นยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นที่ไม่มีผลต่อระดับกรดยูริกในเลือด โดยอาจเปลี่ยนเป็นยาลดความดันโลหิตซึ่งมีฤทธิ์เร่งการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะด้วย แต่สำหรับผู้ป่วยซึ่งมีโรคหรือภาวะที่จำเป็นต้องใช้ยาขับปัสสาวะ ก็ไม่ต้องหยุดยาขับปัสสาวะ
  • ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงอาจพิจารณายาซึ่งมีฤทธิ์เร่งการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะด้วย
  • ผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากไม่มีข้อห้ามควรแนะนำให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร
  1. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม (intense physical exercise) เนื่องจากจะทำให้ข้ออักเสบกำเริบขึ้น ควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง (moderate physical exercise)

การรักษาโดยวิธีการใช้ยา (Pharmacological therapy)

ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน

  • พักใช้ข้อ ยกข้อให้สูง และประคบข้อด้วยน้ำแข็ง (ice pack)
  • เริ่มยาต้านการอักเสบให้เร็วที่สุดและหยุดยาเมื่อข้อหายอักเสบแล้ว
  • โดยเลือกใช้ยาโคลชิซีน(colchicine) และ/หรือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นลำดับแรกหากไม่มีข้อห้ามในการใช้
  • สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดยูริกในเลือดอยู่แล้ว ก็ควรให้ยาในขนาดเดิมต่อไป ไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนแปลงขนาดของยา
  • สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยได้ยาลดระดับกรดยูริก ไม่ควรเริ่มให้ยาในขณะที่ยังมีข้ออักเสบอยู่ เพราะจะทำให้ข้ออักเสบหายช้า
โรคเก๊าท์ สามารเกิดตรงส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง
โรคเก๊าท์เป็นส่วนไหนในร่างกายได้บ้าง

รักษาโรคเก๊าท์ด้วยยา - ควบคุมระดับกรดยูริก

  • ยาลดการสร้างกรดยูริก ได้แก่ ยาอัลโลพิวรินอล (Allopurinol)
  • ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต ได้แก่ ยาโปรเบ็นนาซิด (Probenecid), ยาเบนโบรมาโรน (Benzbromarone) และ ยาซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone)
  • แพทย์จะเริ่มยากลุ่มนี้เมื่อข้ออักเสบหายดี และปรับขนาดยาจนระดับกรดยูริกในเลือดได้ในระดับ 5-6มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และให้ยาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ การใช้ยาจึงควรใช้อย่างระมัดระวังและเลือกใช้เฉพาะราย เนื่องจากมีผลข้างเคียงและอาจมีผลกระทบต่อระดับยาบางชนิดได้

การหยุดการรักษา

แนะนำให้รับประทานยาลดระดับกรดยูริกในเลือดตลอดชีวิต แต่อาจพิจารณาลดหรือหยุดยาในผู้ป่วยที่มีระดับกรดยูริกในเลือดลดลงได้ตามเป้าหมายโดยที่ไม่มีโทฟัสและไม่เกิดข้ออักเสบขึ้นอีกเลยเป็นเวลานานหลายปี แต่ถ้าเกิดการกำเริบข้ออักเสบเฉียบพลันหรือเริ่มเกิดโทฟัสขึ้นอีก ก็สามารถกลับมาเริ่มยาลดกรดยูริกในเลือดใหม่ได้

รักษาเก๊าท์ด้วยสมุนไพร ได้หรือไม่

รักษา โรคเก๊าท์ ด้วยสมุนไพร

ตัวอย่างตำรับยาพื้นบ้านรักษาเก๊าท์ด้วยสมุนไพร

  1. ใบสดมะละกอ ล้างน้ำให้สะอาด นวดเอาแต่น้ำดื่มประมาณ 1 ถ้วยน้ำชา ดื่มวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น หรือนำใบมะละกอหั่นฝอยตากแห้ง นำใบมะละกอที่แห้งแล้ว 1 หยิบมือ ชงดื่มเหมือนน้ำชา
  2. ว่านหางจระเข้ ยำกิน นำว่านหางจระเข้มาล้างให้สะอาด ตัดส่วนที่เป็นหนามๆ ด้านข้างทิ้ง แล้วสับว่านหางจระเข้ให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งกิน ว่านหางจระเข้ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยในการระบาย
  3. หัวรากสามสิบ นำมาต้มกิน หรือตากแห้งตำผงชงกิน หรือแช่น้ำผึ่งกิน หรือตากแห้งหั่นบางๆ คลุกกับน้ำตาลบีบก้อนผสมกับเทียนทั้งห้าอย่างละนิดหน่อยกิน
  4. หญ้าแผ่นดินเย็น ผักปลาบ หรือหญ้าปักกิ่ง เอาทั้งต้นมานึ่งนวดตากแห้งทำวิธีเดียวกับชา พอแห้งแล้วนำมาชงกินเป็นประจำ
  5. หญ้าหนวดแมว ตากแห้ง ต้มหรือชงกินเป็นประจำ เช่นเดียวกับชา
  6. ต้นกระดูกไก่ดำสดตำให้ละเอียด 1 ส่วน ใส่เหล้าขาว 1 ส่วน ทาบริเวณที่ปวด เมื่อมีอาการ

แม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยพบว่า สมุนไพรหรืออาหารบางชนิดอาจช่วยลดระดับกรดยูริกในร่างกาย และอาจช่วยลดอาการปวดข้อจากโรคเก๊าท์ได้ แต่ผู้ป่วยก็ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนตัดสินใจรับประทานสมุนไพรหรืออาหารชนิดใดๆ ก็ตามเพื่อหวังรักษาโรคนี้ นอกจากนั้น การรักษาโรคเก๊าท์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดมักจำเป็นต้องรักษาหลายวิธีร่วมกัน โดยผู้ป่วยควรควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะกับสุขภาพของตน

การรับประทานสมุนไพรเพื่อการป้องกันหรือรักษาโรคบางชนิดควรอยู่ในความดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ หรือควรปรึกษาก่อนรับประทานว่ามีประสิทธิผลและความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ไม่ควรรับประทานสมุนไพรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน กรณีรับประทานสมุนไพรเป็นยาควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้งเพื่อรักษาให้ตรงสาเหตุ และป้องกันการเกิดปฎิกิริยาระหว่างยาในผู้ป่วยที่รับประทานยาประจำ

Ref.
  • แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ (Guideline for Management of Gout) โดยสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555
  • โรคเกาต์(Gout) โดย ผศ.พญ.อัจฉรา กุลวิสุทธิ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร https://www.thailandplus.tv/archives/229895

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า