โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia : Non-ulcer, ulcer) โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะเข้าใจว่า เวลาที่เราปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่เรื้อรังเป็นๆ หายๆ นั้นเป็นโรคกระเพาะอาหาร ที่จริงแล้วอาการปวดท้องบริเวณนี้อาจจะเกิดจากโรคอื่นๆ ก็ได้ เช่น โรคระบบทางเดินน้ำดี โรคตับอ่อน เป็นต้น แต่โรคกระเพาะอาหารก็เป็นกลุ่มโรคที่สำคัญที่ต้องนึกถึง ซึ่งโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
สารบัญ
- โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร
- โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากสาเหตุใด
- อาการที่พบบ่อยในคนที่เป็น โรคกระเพาะอาหาร
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคกระเพาะอาหาร
- อาการอันตราย หากเป็นต้องรีบพบแพทย์ทันที (Alarming Symptom)
- จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร
- แนวทางการรักษา โรคกระเพาะอาหาร
- การดูแลตนเอง หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร?
โรคกระเพาะอาหาร มีทั้งชนิดที่เป็นแผล โดยอาจจะมีแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) หรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) และชนิดที่ไม่เป็นแผล คือจะมีการอักเสบของเยื่อบุในกระเพาะอาหาร โดยอาจจะเรียกว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยอาการจะคล้ายคลึงกัน ซึ่งคนที่เป็น
โรคนี้แล้วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือบางคนเป็นนานๆ แล้วไม่ได้รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง
ก็จะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
เป็นการอักเสบของเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหารบางบริเวณเท่านั้น แบ่งเป็น
1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคกระเพาะที่เป็นในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ อาการก็ดีขึ้น
อาการสําคัญ คือจะปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลากินอาหารหรือหลังอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้อาเจียน ในรายที่รุนแรงจะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดําได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
สาเหตุที่พบบ่อย คือจากอาหารเป็นพิษ พิษสุรา และจากยาที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ
2. โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคกระเพาะที่เป็นนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มากหรือแทบไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากแน่นท้องเป็นๆ หายๆ เท่านั้น
โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากสาเหตุใด ?
1. กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น เนื่องจาก
- เกิดการกระตุ้นของปลายประสาท ซึ่งเกิดจากความเครียด วิตกกังวลและอารมณ์
- การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟ
- การสูบบุหรี่
- การกินอาหารไม่เป็นเวลา
2. มีการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดจาก
- การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน (NSAIDs/แอสไพริน) และยาสเตียรอยด์ (steroid) ยาลูกกลอนต่างๆ
- การกินอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัดจากน้ำส้มสายชู
- การดื่มแอลกอฮอล์
3. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร Helicobacter pylori (H. pylori)
- pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียของการเกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นชนิดต่างๆ การกำจัดเชื้อนี้ทำได้ไม่ยาก เป็นแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นเกลียวและมีหาง ชอบอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารที่มีกรดสูงและชอนไชเข้าไปในเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น จนทำให้เกิดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหารส่วนต้นทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ก่อให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นรวมถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การติดเชื้อ H. pylori ในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นพบได้ทั่วโลกและเป็นกันมากในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา โดยอาจมีอุบัติการณ์สูงถึง 60-70% ของประชากรในบางประเทศ พบมากในคนที่มีอายุมากขึ้น เชื่อว่าเชื้อนี้ติดต่อทางปากจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่
- เชื้อ H. pylori เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผล และภาวะแทรกซ้อนจากแผล (ulcer complications) ที่เกิดจากยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs/แอสไพริน) ดังนั้นการกำจัดเชื้อ H. pylori ก็จะสามารถลดการเกิดแผลจากยา NSAIDs/แอสไพริน และภาวะแทรกซ้อนจากแผลได้
อาการที่พบบ่อยในคนที่เป็น โรคกระเพาะอาหาร
- อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือมีอาการปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องช่วงบน มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน
- อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด
- อาการปวด มักจะเป็นๆ หายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ไม่มีอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์แล้วหายไปหลายเดือนแล้วค่อยกลับมาปวดอีก
- ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
- ถึงแม้ว่าจะมีอาการเรื้อรังเป็นปี แต่สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม
- โรคแผลกระเพาะอาหาร จะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่มโดยตรง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จาก โรคกระเพาะอาหาร
- อาเจียนเป็นเลือดดำหรือแดง หรือถ่ายดำเหลว เนื่องจากมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร
- ปวดท้องช่วงบนอย่างทันทีทันใดและรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บ เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารทะลุ
- กินได้น้อย อิ่มเร็ว ปวดท้องและอาเจียนหลังจากรับประทานอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเนื่องจากการอุดตันของกระเพาะอาหาร
อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้
อ่านบทความที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวข้อง
อาการอันตราย หากเป็นต้องรีบพบแพทย์ทันที (Alarming Symptom)
- ถ่ายดำหรือถ่ายมีเลือดปน
- น้ำหนักลด
- ตัวซีด เหลือง (ดีซ่าน)
- ปวดรุนแรงนานเป็นชั่วโมง
- มีอาเจียนรุนแรงติดต่อกัน หรืออาเจียนมีเลือดปน
- เจ็บหรือกลืนลำบาก
- มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร
- คลำก้อนในท้องได้ หรือต่อมน้ำเหลืองโต
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือไม่?
- แพทย์จะวินิจฉันได้ถูกต้องจากการซักประวัติอาการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น โรคถุงน้ำดี โรคตับ โรคตับอ่อน
- จากการเอกซเรย์ โดยการกลืนแป้งดูกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก หรือไม่ อาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กหรือไม่
- การส่องกล้อง เพื่อตรวจดูกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก จะสามารถมองเห็นเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กว่ามีการอักเสบมีเลือดออก หรือมีแผลหรือไม่ ตลอดจนสามารถตัดเนื้อเยื่อออกมาตรวจพิสูจน์ได้ด้วย
แนวทางการรักษา โรคกระเพาะอาหาร
กรณีที่ 1 การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดจุกแน่นท้อง จุกเสียด ลมเรอ แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ มีแนวทางรักษา ดังนี้
- กำจัดต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่
- กินอาหารให้เป็นเวลา
- งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง
- งดดื่มน้ำชา กาแฟ
- งดสูบบุหรี่
- งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs/แอสไพริน)
- พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด
- รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร โดยกินยาอย่างถูกต้อง คือต้องกินยาให้สม่ำเสมอ กินยาให้ครบตามจำนวน และระยะเวลา ที่แพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย ดังนั้นภายหลังกินยา ถ้าอาการดีขึ้นห้ามหยุดยา ต้องกินยาต่อจนครบ และแพทย์แน่ใจว่าแผลหายแล้ว จึงจะลดยาหรือหยุดยาวได้
กรณีที่ 2 หากอาการไม่ดีขึ้นหลังปฎิบัติตามข้างต้น หรืออาการเป็นมานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการเตือนที่สำคัญ ต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร หากพบว่าผู้ป่วยมีแผลในกระเพาะอาหาร อาจต้องวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อจากแผล เพื่อตรวจหาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ตัดชิ้นเนื้อจากส่วนล่างของกระเพาะอาหาร เพื่อดูว่ามีเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. pylori) หรือไม่ ถ้ามีเชื้อโรคดังกล่าวร่วมกับมีแผล ต้องให้ยากำจัดเชื้อโรค 2 สัปดาห์ และให้ยารักษาแผลอีก 4-6 สัปดาห์
การดูแลตนเอง หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
ต้องนึกไว้เสมอว่า โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักจะไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจําเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยาอาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์แผลจึงหาย เมื่อหายแล้วจะกลับมาเป็นใหม่อีกถ้าไม่ระวังและไม่ได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง
- รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารและมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหาร
- งดบุหรี่ งดเหล้า งดเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายคลายเครียด
- งดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก โดยไม่จำเป็น
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography