เจ็บหน้าอก เมื่อเกิดอาการแบบนี้หลายคนจะตกใจกลัวว่าเป็น ‘โรคหัวใจ’ รึเปล่า? ยิ่งถ้ามีอาการบ่อยๆ ก็จะยิ่งวิตกกังวล ซึ่งจริงๆ แล้วอาการเจ็บหน้าอกนั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอาจจะมาจากโรคหัวใจหรือไม่ได้มาจากโรคหัวใจก็ได้
สารบัญ
เจ็บหน้าอก (Chest Pain) เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณไหล่ลงมาถึงช่วงล่างของซี่โครง อาการเจ็บมีได้หลายแบบ เช่น เจ็บจี้ดๆ เจ็บตื้อๆ หนักๆ เจ็บหน้าอกด้านซ้าย เจ็บหน้าอกด้านขวา ปวดตรงกลางอก เจ็บหน้าอกร้าวไปหลัง ปวดแสบร้อนกลางอก ไอแล้วเจ็บอก หรือหายใจแล้วเจ็บอก ผู้ป่วยบางคนก็อาจจะชอบเรียกว่า เจ็บหัวใจ ซึ่งสาเหตุของ อาการเจ็บหน้าอก มีหลายอย่าง โรคบางโรคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจ การวินิจฉัยสาเหตุระบุได้ยากหากไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียด ดังนั้นผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาต่อไป
สาเหตุของการเจ็บหน้าอกประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ สาเหตุจากกล้ามเนื้อและกระดูก สาเหตุจากระบบย่อยอาหาร สาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจ สาเหตุเกี่ยวกับปอด และสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีรายละเอียด ดังนี้
อาการเจ็บหน้าอก สาเหตุจากกล้ามเนื้อและกระดูก
- กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ
ผนังอกตรงซี่โครงมีกล้ามเนื้อหลายส่วนที่อยู่ล้อมรอบและช่วยให้ผนังอกสามารถเคลื่อนไหวระหว่างที่หายใจได้ หากกล้ามเนื้อหน้าอกเหล่านี้ถูกใช้งานอย่างหนักจนเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด เช่น ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ยกของหนัก เคลื่อนไหวทันทีทันใด หรือไอติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหน้าอกอักเสบ เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ จะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ หรือเมื่อเอี้ยวตัวจะรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ จี้ดๆ
- กระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ (Costochondritis)
กระดูกอ่อนของผนังอก โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมกับกระดูกหน้าอกนั้น เมื่อเกิดการอักเสบ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ ตึงรอบ ๆ ซี่โครง และจะรู้สึกเจ็บมากเมื่อกระดูกอ่อนช่วงอกถูกดันขึ้นเวลานอนหงาย เวลาหายใจลึก ๆ ไอ หรือจาม จะกดเจ็บบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะบริเวณกระดูกซี่โครงใกล้ๆ ทรวงอก ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณแขน ขา รวมถึงอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้
- ซี่โครงได้รับบาดเจ็บ
หลังเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดซี่โครงหักหรือช้ำ ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้เช่นกัน เวลาขยับตัวเอี้ยวตัว จะเจ็บแปล๊บๆ
เจ็บหน้าอก สาเหตุจากระบบย่อยอาหาร
- อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn)
อาการนี้ถือเป็นอาการหลักของโรคกรดไหลย้อนหรือเกิร์ด (GERD: Gastro-Esophageal Reflux Disease) เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาที่หลอดอาหาร เนื่องจากมีความผิดปกติของหูรูดที่อยู่ส่วนปลายสุดของหลอดอาหารไม่แข็งแรง ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอบ่อยๆ เรอเปรี้ยว อีกทั้งผู้ป่วยยังรู้สึกเจ็บที่ท้องส่วนบนบริเวณลิ้นปี่และเจ็บบริเวณกลางหน้าอก ไม่สบาย ท้องอืด และเกิดอาการแสบร้อนเมื่อกลืนเครื่องดื่มร้อน อาการแสบร้อนนี้มักเป็นและหาย และจะแย่ลงทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ บ่อยครั้งที่หลายคนมักเข้าใจอาการเจ็บหน้าอกเพราะภาวะแสบร้อนกลางทรวงอกว่าเป็นเพราะโรคหัวใจ เพราะหัวใจและหลอดอาหารนั้นอยู่ใกล้กันและมีเส้นประสาทร่วมกัน
- โรคไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia)
ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อท้องส่วนบนเลื่อนไปชนหน้าอกส่วนล่าง อาการจะคล้ายๆ กรดไหลย้อน (Gerd) นำไปสู่อาการแสบร้อนกลางอกและเจ็บหน้าอกในที่สุด อาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อนอนหงาย
- โรคกระเพาะ (Peptic Ulcers)
ผู้ป่วยโรคกระเพาะจะเกิดอาการแสบร้อนภายในท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือจุกแน่นกลางลิ้นปี่ก็ได้ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาแก้ปวดหรือยาลดอาการอักเสบ
- หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ (Esophageal Contraction Disorders)
การหดเกร็งของกล้ามเนื้อและอาการที่กลืนอาหารลำบากซึ่งเกิดขึ้นตรงหลอดอาหารนั้นทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้
- ภาวะหลอดอาหารทะลุ (Esophageal Perforation)
ผู้ป่วยที่เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงทันทีหลังจากที่อาเจียนนั้น อาจจะเป็นสัญญาณที่แสดงให้รู้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดอาหารทะลุ
เจ็บหน้าอก สาเหตุเกี่ยวกับปอด
- เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy)
เกิดจากการอักเสบติดเชื้อหรือสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึก เจ็บแปล๊บเหมือนถูกของมีคมแทงที่หน้าอก โดยที่สามารถเจ็บตรงส่วนไหนของอกก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเยื่อหุ้มปอดเกิดการอักเสบที่ตรงบริเวณใด และจะยิ่งเจ็บมากเมื่อหายใจเข้า ไอ หรือจาม
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นปอด (Pulmonary Embolism)
เมื่อลิ่มเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดเข้าไปอุดที่ปอด ปิดทางไม่ให้เลือดลำเลียงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของปอดได้ จะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบตรงกลางอกหลังกระดูกสันอก รู้สึกเหนื่อย หายใจได้ไม่สุด ไอเป็นเลือด หัวใจเต้นเร็ว
- ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)
เกิดจากการที่มีอากาศเข้าไปอยู่ระหว่างปอดและผนังอก อาจจะเกิดจากการได้รับบาดเจ็บถูกกระแทกบริเวณหน้าอก หรือเกิดจากการที่มีโพรงอากาศอยู่ในเยื่อหุ้มปอดอยู่ก่อนแล้ว และอากาศก็เพิ่มขึ้นมา โดยด้านนอกบางส่วนของปอดอาจเกิดรอยฉีกเล็กน้อย ทำให้อากาศเข้ามา โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปล๊บที่ด้านใดด้านหนึ่งของหน้าอก และจะยิ่งเจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้า ทำให้หายใจไม่ออก หายใจไม่สะดวก
เจ็บหน้าอก จากสาเหตุอื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางร่างกายโดยตรง
- ความกลัวหรือกังวล
ความกลัวหรือกังวลถือเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยความรู้สึกกลัวหรือกังวลนั้นส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายอย่างเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่สุด คลื่นไส้ เวียนหัว และรู้สึกกลัวตาย
- โรคงูสวัด (Shingles)
โรคงูสวัดจะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ ที่ขึ้นบริเวณหลังไปจนถึงหน้าอกจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดแสบร้อนบริเวณนั้นได้ และถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นจนแผลหายแล้ว ความเจ็บปวดบริเวณนั้นก็ยังจะสามารถคงอยู่ได้
อาการเจ็บหน้าอก ที่มีสาเหตุเกี่ยวกับหัวใจ
- ภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina)
ภาวะนี้เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease: CAD) ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บเหมือนถูกกดหรือบีบที่หน้าอก รู้สึกแน่นเหมือนมีอะไรมาทับ เป็นบริเวณกลางหน้าอก ด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน แต่มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว ซึ่งอาการนี้อาจกระจายไปที่แขน ไหล่ ขากรรไกร หรือหลังได้ ผู้ป่วยมักเกิดอาการดังกล่าวเมื่อออกแรงทำกิจกรรมอย่างออกกำลังกาย ตื่นเต้น หรือรู้สึกเครียด ซึ่งอาการจะทุเลาลงเมื่อหยุดออกกำลัง แต่บางรายถ้าอาการรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นขณะพักได้
- ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic Dissection)
เป็นภาวะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงใหญ่มีรอยปริเป็นรูรั่ว ทำให้เลือดไหลออกไปเซาะให้ผนังชั้นใน แยกออกจากผนังชั้นกลางเป็นแนวยาว โรคนี้จัดว่ามีอันตรายร้ายแรงพบมากในกลุ่มอายุ 40-70 ปี ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเหมือนถูกฉีกตั้งแต่คอ หลัง ไปจนถึงท้อง เจ็บแบบทันที เจ็บรุนแรงมาก อาการเจ็บนี้ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจรุนแรงจนเป็นลมไป
โดยสรุป อาการเจ็บหน้าอกนั้น อาจจะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากปัญหาโรคหัวใจหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหน้าอกที่มีแนวโน้มว่าไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจนั้นมักเกิดลักษณะของอาการดังนี้
- แสบร้อนกลางหน้าอก เรอเปรี้ยว รับรสเปรี้ยวหรือรู้สึกว่ามีน้ำจากสิ่งที่กลืนลงไปไหลขึ้นมาที่คอ
- อาการเจ็บหน้าอกอาจดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ
- อาการเจ็บหน้าอกกำเริบมากขึ้นเมื่อหายใจลึก ๆ หรือไอ
- มีจุดกดเจ็บชัดเจนบริเวณหน้าอก
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกไม่ว่าลักษณะใด ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมเพื่อได้การวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องค่ะ
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography