หลอดลมอักเสบ นั้นสามารถเกิดได้จากหลาบปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เช่น อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน สัมผัสกับมลภาวะ เช่นฝุ่น ควัน หรือสารพิษ เป็นต้น รวมถึงคนที่เป็น โรคกรดไหลย้อน ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบได้เช่นกัน อาการที่พบมักจะไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก หรือมีเสมหะ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อาจทำให้ส่งผลเสียต่อปอด กลายเป็นปอดอักเสบได้
โรค หลอดลมอักเสบ คืออะไร? เกิดจากอะไร?
หลอดลมอักเสบ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศที่หายใจเข้ามาสู่ปอด เมื่อเยื่อบุหลอดลมบวม ร่วมกับต่อมที่ผลิตเมือกโตขึ้น ก็จะมีการหลั่งเมือกหรือเสมหะออกมามากผิดปกติ เกิดการไปอุดกั้นช่องทางเดินหลอดลมให้แคบลง
ส่งผลให้อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก ทำให้เกิดอาการไอตามมา อาจจะไอแห้งหรือไอมีเสมหะก็ได้ และอาจมีอาการอื่นๆ คล้ายโรคหวัดร่วมด้วย เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ต่ำๆ บางรายมีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย โดยปกติอาการของโรคหลอดลมอักเสบมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาการไอแห้งอาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
โรคหลอดลมอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute bronchitis) ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ โดยจะมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ ส่วนมากเป็นภายหลังไข้หวัดที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี ทำให้เชื้อลามลงไปถึงหลอดลม
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic bronchitis) เป็นอาการที่เกิดจากการไอเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี สาเหตุมาจาก ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน การสัมผัสกับมลภาวะเป็นระยะเวลานาน เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี และการระคายเคืองจากน้ำย่อยในโรคกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรค หลอดลมอักเสบ
กรดไหลย้อน เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โดยจะมีอาการต่างๆ ดังนี้
- ไอเรื้อรัง เกิดจากกรดไหลย้อน เข้าไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่แย่กว่านั้นคือ ในบางรายอาจเกิดอาการหอบหืด โดยหลอดลมจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ของที่มีกลิ่นฉุน ฝุ่น ควัน อากาศที่เปลี่ยนแปลงมากผิดปกติ อาการไอหลังกินอาหารเกิดจากอาหารทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น จนกรดไหลลงไปในหลอดลมได้
- อาการไอ สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการหดตัวของหลอดลม ที่มักเป็นในเวลากลางคืน เนื่องจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน
- อาการเจ็บหน้าอก เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหารที่อยู่ในช่องอก และกระตุ้นเส้นประ สาทในหลอดอาหารทำให้มีอาการดังกล่าวได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลมและปอด อาจทำให้มีการอักเสบของปอดเป็นๆ หายๆ ได้
- เสียงแหบ เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมา แล้วไปสัมผัสกับเส้นเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้เส้นเสียงบวม ปิดไม่สนิท เกิดลมรั่ว ทำให้เกิดมีเสียงแหบได้ สาเหตุที่มีเสียงแหบตอนเช้า เกิดจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน เส้นเสียงจึงถูกกรดสัมผัสมากกว่าช่วงอื่น ๆ ของวัน ทำให้ขณะตื่นมาตอนเช้า มักจะมีเสียงแหบได้
- การที่มีเสมหะอยู่ในคอตลอด เกิดจากการที่กรดไหลขึ้นมา สัมผัสกับต่อมสร้างเสมหะในลำคอ และกระตุ้นทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การที่กรดไปกระตุ้นเส้นประสาทในคอ อาจทำให้มีอาการคันคอ แสบคอ เจ็บคอ หรือระคายคอได้
- อาการที่รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอหรือแน่นคอ หรือกลืนติด ๆ ขัด ๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เกิดจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และเกิดความรู้สึกดังกล่าว การกินยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน อาจช่วยให้อาการดังกล่าวลดน้อยลง บางรายอาจมีอาการกลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบคอ หรือปาก หรือแสบลิ้นได้
คลิ๊กอ่าน! บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
- ผ่าตัดกรดไหลย้อน รักษาที่ต้นเหตุไม่ต้องทานยาอีกต่อไป โดย นพ.ปณต ยิ้มเจริญ
-
กรดไหลย้อน (GERD) แก้ก่อนสาย ภัยเงียบเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร!
อาการ หลอดลมอักเสบ แบบไหน? ที่ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์
- มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์
- มีอาการไอเป็นเลือด ร่วมด้วย
- มีอาการที่สงสัยว่า อาจเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย
- มีอาการไอมาก จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ
การวินิจฉัยโรค หลอดลมอักเสบ
- ซักประวัติ เช่น การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ หรือสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการไอ อาการทางจมูกหรือโรคไซนัส ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว การสูบบุหรี่ การดูดดมสารเคมี ยาที่ใช้ประจำ อาการของโรคกรดไหลย้อน เช่น เรอเปรี้ยว ท้องอืด จุกแน่นหรือแสบร้อนกลางอก เป็นต้น
- ตรวจร่างกายโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ โดยใช้ที่ฟังปอด ฟังเสียงหลอดลม ว่ามีการตีบแคบของหลอดลมหรือไม่ และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การส่องกล้องระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด
- ให้การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการไอ การที่เสมหะมีสีขาว หรือเขียว ไม่ได้ช่วยแยกว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
การรักษา หลอดลมอักเสบ
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน ถ้าปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น, สารระคายเคืองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การอักเสบในหลอดลมเป็นมากขึ้น
- ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น และแห้ง ซึ่งจะทำให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถกระตุ้นเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการไอมากขึ้นได้
- ควรหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหลอดลมอักเสบด้วย เนื่องจาก ถ้าผู้ป่วยยังมีภูมิต้านทานต่อโรคดี ผู้ป่วยมักจะไม่เป็นหลอดลมอักเสบ เมื่อใดเป็นหลอดลมอักเสบ แสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลงได้แก่ เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ, ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้ การหาสาเหตุเหล่านี้มีความสำคัญ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้หาและไม่หลีกเลี่ยง นอกจากจะทำให้หายช้าแล้ว อาจทำให้เป็นหลอดลมอักเสบซ้ำได้อีก
- รักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ รับประทานยาลดไข้ ถ้ามีอาการไอมาก จนรบกวนการนอน หรือเป็นที่น่ารำคาญ อาจรับประทานยาลดหรือระงับอาการไอ หรือยาขยายหลอดลม, ถ้ามีเสมหะมาก อาจรับประทาน ยาละลายเสมหะ
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ อาจให้ยาลดการอักเสบของหลอดลม ยาขยายหลอดลม และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม
วิธีป้องกันโรค หลอดลมอักเสบ
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง ได้แก่ เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ และหมั่นออกกำลังกาย
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น, สารระคายเคืองต่างๆ รวมถึง ปรับพฤติกรรมและรักษาหากสงสัยว่าตนเองมีอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากโรคกรดไหลย้อนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรังตามมา
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography