ภาวะเต้านมโตในเพศชาย (gynecomastia) คือ การที่เนื้อเต้านมมีลักษณะเป็นก้อนด้านหลังหัวนม เกิดจากการที่เนื้อเยื่อเต้านมของผู้ชายเกิดการขยายตัว สามารถเกิดที่เต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยปกติเนื้อเต้านมเพศชายมีขนาดเล็ก แต่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน แบ่งเป็น
- ภาวะเต้านมโตตามสรีรวิทยา (physiologic gynecomastia)
เป็นภาวะเต้านมโตในเพศชายที่สามารถเกิดขึ้นได้ปกติตามธรรมชาติจากภาวะระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลระหว่างเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน - ภาวะเต้านมโตที่ไม่เป็นไปตามสรีรวิทยา (non-physiologic gynecomastia)
มีสาเหตุมากจากโรคหรือความผิดปกติ เช่น โรคตับแข็ง
ภาวะมีเต้านมเทียมในเพศชาย (pseudo-gynecomastia) เป็นอีกภาวะหนึ่งที่มีลักษณะเต้านมโตในเพศชาย มักพบในเพศชายที่อายุมากหรือผู้ชายที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน เกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณเต้านม ทำให้เต้านมมีลักษณะที่โตขึ้น
อ่านเรื่อง ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย พร้อมวิธีการรักษาเพิ่มเติม
CR. https://www.thenewyou.in/gynecomastia-vs-pseudogynecomastia-know-the-difference/
รีวิวผ่าตัดเต้านมผู้ชายโตกว่าปกติ gynecomastia
โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer)
โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภายในต่อมน้ำนม หรือท่อน้ำนม ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ดังกล่าวผิดปกติ และกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็งภายในเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด มะเร็งเต้านม ในเพศชาย
1. ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ที่สูงผิดปกติ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นตัวกระตุ้นให้เนื้อเยื่อของเต้านมมีการเจริญเติบโต การที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกตินั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเต้านมโตในเพศชาย (gynecomastia) และความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้ การที่เพศชายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิงมากกว่าปกติ สามารถเกิดได้จาก
- การรับประทานยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง รวมไปถึงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเนื่องจากเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) เป็นสารตั้งต้นที่สามารถสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้
- โรคหรือกลุ่มอาการที่ลดประสิทธิภาพในการทำงานของตับ รวมไปถึงผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งตับเป็นอวัยวะที่ควบคุมสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือด
2. อายุที่มากขึ้น เช่นเดียวกับในเพศหญิง จากสถิติพบว่าเพศชายที่เป็นมะเร็งเต้านมมีอายุเฉลี่ยที่ 71 ปี โดยแต่ละการศึกษาจะรายงานอายุเฉลี่ยที่ไม่เท่ากัน แต่สรุปผลในทางเดียวกันคือ เพศชายที่อายุมากกว่าจะมีความเสี่ยงในการเพศมะเร็งเต้านมได้มากกว่า
3. ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) ต่ำกว่าปกติ เช่น Klinefelter syndrome หรือ XXY syndrome ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมในเพศชายที่มีโครโมโซม X เกินมาจากปกติหนึ่งตัว ส่งผลให้มีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายน้อย และมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเต้านมโตและความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายได้
4. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม (genetic mutation) เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมในเพศชายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีประวัติเกิดมะเร็งเต้านมในเพศชาย และจะมีความเสี่ยงยิ่งขึ้นหากเป็นมะเร็งเต้านมจากความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งยีนดังกล่าวทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ในร่างกาย (tumor suppressor gene) ความผิดปกติ (mutation) ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 นั้น จะทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากในการเกิดมะเร็งเต้านมทั้งในเพศหญิงและเพศชาย รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ของเพศหญิง
5. การได้รับรังสีที่บริเวณหน้าอก เช่น มีประวัติเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่หน้าอกและได้รับรังสีรักษา
ทำความรู้จัก NK Cells คืออะไร?
- เซลล์เม็ดเลือดขาว ภูมิคุ้มกันธรรมชาติในร่างกาย
- มีหน้าที่สำคัญคือป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น ฆ่าเชื้อไวรัส และกำจัดเซลล์มะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
อาการหลักๆ ที่แสดงถึงโรค มะเร็งเต้านม ในผู้ชาย
วิธีการสังเกตุมะเร็งเต้านมในผู้ชายก็เหมือนกับผู้หญิง คือ ใช้วิธีคลำหาก้อนที่โตในเต้านมทั้ง 2 ข้าง หากพบว่ามีลักษณะเป็นก้อนๆ ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และโดยปกติแล้วบริเวณหัวนมของผู้ชายจะไม่มีน้ำหรือของเหลวไหลออกมาได้ หากมีน้ำหรือมีเลือดไหลออกมาจากบริเวณหัวนมแสดงว่าผิดปกติ
ที่สำคัญไม่ควรรอจนมีอาการเจ็บแล้วค่อยไปตรวจ ถ้าหากเราพบความผิดปกติหรือเจอก้อนแข็งๆ ตามที่กล่าวไว้ ให้รีบมาพบแพทย์จะดีที่สุด อย่างน้อยๆ ก็จะได้ตรวจหาสาเหตุได้อย่างทันท่วงทีว่ามันคือก้อนอะไรกันแน่
สรุปอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม
- คลำพบก้อนแข็งในเต้านม โดยจะพบมากบริเวณใต้หัวนม และฐานหัวนม โดยไม่มีอาการปวด
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่บริเวณหน้าอก เช่น มีการดึงรั้งของผิวหนัง ทำให้มีลักษณะผิวไม่เรียบ
- หัวนมมีลักษณะผิดปกติ เช่น หัวนมมีอาการฝ่อ มีสะเก็ด มีแผล มีการดึงรั้งของหัวนม รวมถึงมีอาการเจ็บปวด
- มีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากหัวนมสามารถพบได้ทั้งแบบใสและมีสีเลือด
- สามารถคลำได้ก้อนที่บริเวณใต้รักแร้ จากการที่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้บวม
การวินิจฉัยโรค มะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในเพศชายจะใช้ลักษณะเช่นเดียวกับในเพศหญิง ดังนี้
- การเอ็กซเรย์เต้านมร่วมกับการอัลตราซาวนด์เต้านม (mammogram with ultrasound) วิธีการนี้เป็นการตรวจเต้านมคัดกรองของผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเพศชายมาด้วย อาการคลำได้ก้อนที่เต้านมก็สามารถใช้เป็นการตรวจเบื้องต้นได้เช่นกัน การเอ็กซเรย์เต้านม (mammogram) จะใช้ในการดูกลุ่มหินปูนเล็กๆ ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เต้านม (ultrasound) ใช้ในการดูลักษณะรูปร่าง หน้าตาและขนาดของก้อนหรือถุงน้ำ
- การตรวจเนื้อเยื่อ เมื่อพบความผิดปกติที่เต้านม ในกรณีที่สามารถคลำระบุตำแหน่งของก้อนได้ชัดเจน แพทย์จะเจาะเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อจากก้อนออกมาเพื่อส่งตรวจด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
– การเจาะดูดเซลล์ (fine needle aspiration; FNA) โดยจะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กแทงเข้าไปในก้อนและดูดเอาสารน้ำหรือเซลล์ที่เป็นส่วนหนึ่งของก้อนออกมา จากนั้นนำไปตรวจด้วยกระบวนการทางพยาธิวิทยา
– การเจาะชิ้นเนื้อ (core needle biopsy) วิธีนี้จะคล้ายกับ FNA แต่เข็มจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่กว่า โดยเข็มจะแทงไปที่ก้อนแล้วตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของก้อนออกมาแล้วจึงไปตรวจด้วยกระบวนการทางพยาธิวิทยา ซึ่งวิธีนี้ให้ผลที่มีความแม่นยำกว่า FNA
แนวทางการรักษาเมื่อตรวจพบว่าเป็น มะเร็งเต้านม
หลักของการรักษาโรคมะเร็งเต้านม คือ การที่สามารถควบคุมโรคและป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหรือลดการแพร่กระจาย ปัจจุบันนี้แนวทางในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชายไม่ได้แตกต่างจากในผู้หญิงมากนัก โดยจะอาศัยหลายแขนงด้วยกัน
- การผ่าตัด
- การให้เคมีบำบัด
- รังสีรักษาหรือการฉายแสง
- การรักษาด้วยฮอร์โมน
- การให้ยาที่ไปยับยั้งหรือรบกวนกระบวนการส่งสัญญาณในระดับเซลล์
Ref. ขวัญลดา มิตรภักดี, “มะเร็งเต้านมในเพศชาย” Male breast cancer, [TUH Journal online Volume 3 3 September – December 2018]
ทำไมต้อง ตรวจวัดระดับ NK Cells Activity Test ของร่างกาย
- ตรวจวัดระดับการทำงานของ NK Cells
- ประเมินความสามารถของร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสและการเกิดมะเร็ง
- หากเซลล์อ่อนแอ ก็สามารถ ทำ NK Cells Therapy โดยการเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวน ก่อนฉีดกลับเข้าร่างกาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ NK Cells
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography