เรอบ่อย เป็นการขับลมจากกระเพาะอาหาร ผ่านหลอดอาหารออกมาทางปาก ในบางครั้งมีแค่เสียงเรอ หรือเรอออกมาพร้อมกับมีกลิ่นของอาหารที่เพิ่งทานเข้าไปร่วมด้วยได้เช่นกัน ซึ่งการเรอทำให้ปลดปล่อยความรู้สึกอึดอัดบริเวณช่องท้อง อาการแน่นท้อง หรือไม่สบายท้องได้ เป็นหนึ่งในอาการที่พบเจอได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนประเภทชีวิตกินด่วน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดโรคตามมาอย่างไม่รู้ตัว กลุ่มโรคที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ กลุ่มโรคทางเดินอาหาร และภาวะที่พบเจอได้บ่อย ก็คืออาการ เรอ ท้องอืด แน่นท้อง กระเพาะอาหารมีปัญหา เช่น แก๊สในกระเพาะเยอะ กระเพาะเป็นแผล เป็นต้น ซึ่งถ้าหากไม่รักษา อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรัง และก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ใครที่อยากรู้ว่า อาการเรอบ่อย มันส่งผลดีหรือเสียอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝาก …
สาเหตุของการเรอ หรือ เรอบ่อย เกิดจากอะไร?
เรอ หรือ เรอบ่อย เกิดขึ้นจากการที่มีลมในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ (ลมในท้องเยอะ) ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการพองตัว และทำการขับลมออกมาเป็น การเรอ เพื่อลดลมในกระเพาะอาหารนั่นเอง ซึ่งการเกิดลมในท้องเยอะ หรือมีแก๊สในกระเพาะเยอะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการกินเท่านั้น เช่น เรอเพราะกินยาบางชนิด เรอเพราะโรคประจำตัว เรอเพราะโรคบางชนิด เป็นต้น
สาเหตุที่พบบ่อย เช่น
- การกลืนลม (Aerophagia) เป็นช่วงที่กลืนลมหรืออากาศไปโดยไม่รู้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรม เช่น กินข้าวหรือดื่มเครื่องดื่มเร็วเกินไป กินข้าวไปคุยไป การสูบบุหรี่ การหายใจเข้าออกที่เร็วกว่าปกติ
- การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เรอบ่อย เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถั่วชนิดต่างๆ อาหารที่มีแป้ง-น้ำตาลสูง กล้วย ขนมปังโฮลวีท
- เกิดจากการที่มี กรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป จากสารคาเฟอีนในกาแฟที่ดื่ม หรือจากการมีสารอาหารตกค้างในกระเพาะอาหาร
- เรอ เพราะใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 อะคาร์โบส (Acarbose) , ยาระบาย ชนิดยาแลคตูโลส (Lactulose) หรือ ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพริน ซึ่งยาจำพวกนี้หากใช้ในปริมาณที่มาก ส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ และเกิดเป็นภาวะทำให้เรอบ่อย
- โรคประจำตัว ทำให้ เรอบ่อย หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น จุกแน่นลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก อาจเกิดจาก โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะ (กระเพาะอาหารอักเสบ หรือ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร)
- เรอบ่อยที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคตับอ่อน ที่ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารได้ หรือ Dumping Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะเข้าสู่ลำไส้เร็วเกินไป
- ความเครียด หรือมีความกดดันสูง
เรอบ่อย เป็นสัญญาณบอกโรคอะไรบ้าง?
โดยปกติแล้วอาการเรอนั้นไม่เป็นอันตรายและสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรืองดสิ่งที่ทำให้เกิดการเรอ แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วการเรอไม่หายไป หรือเรอบ่อยกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับภาวะระบบย่อยอาหารผิดปกติก็เป็นได้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด อย่างเช่นในกรณีที่มีอาการเรอ พร้อมกับอาการเหล่านี้ .. อาจต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างจริงจัง
- อาเจียนกระทันหัน : อาจเกิดความผิดปกติของลำไส้หรือทางเดินอาหาร อาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้อักเสบ ติดเชื้อในลำไส้ หรืออาจมีก้อนเนื้อในลำไส้
- ท้องอืด ท้องบวม เกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะเกินไป อาจเป็นสัญญาณว่าเกิดการระคายเคืองภายในลำไส้ หรือท้องอืดจากการแพ้นมวัว
- เรอพร้อมกับเจ็บร้าวบริเวณหน้าท้องหรือซี่โครง : อาจเป็นสัญญาณของอาการ ไส้เลื่อนกระบังลม
- มีอาการแสบร้อนในลำคอ หน้าอก ร่วมกับการเรอ อาจเกิดจากการเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งต้องให้แพทย์วินิจฉัยและตรวจว่าเป็นจริงๆ
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว สันนิษฐานว่าอาจเกิดก้อนเนื้อ หรือเกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้
- นอกจากการเรอ อาจผายลมบ่อยแทน และผายลมมากกว่าปกติ ท้องเสียบ่อย อาจเป็นอาการของโรคลำไส้แปรปรวน หรือ ไอบีเอส (IBS – Irritable Bowel Syndrome)
วิธีรักษาอาการ เรอบ่อย
- หาก เรอบ่อย ควรเลือกรับประทานอาหาร หรือทานอาหารให้ช้าลง ค่อยๆ เคี้ยวและกลืน ไม่รีบกลืนในขณะที่ชิ้นเนื้อหรืออาหารยังไม่ถูกย่อย
- ไม่รับประทานอาหารในขณะที่กำลังพูดคุย เพราะจพทำให้ลมเข้ากระเพาะอาหารเยอะ และเกิดการเรอได้
- ลดการ เรอบ่อย จากการดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือดื่มน้ำเปล่าตามให้มาก
- ไม่รับประทานอาหารที่ทำจากนม หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
- รับประทานอาหารให้พอเหมาะและพอดี
- หมั่นดูแลใส่ใจ และให้ความสุขกับร่างกายเสมอ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นเกม เดินเล่น เพื่อผ่อนคลายความเครียด
- งดการสูบบุหรี่
ยารักษาอาการเรอ
อาการเรอนั้นอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยในบางครั้ง เช่น อาการจุกเสียดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นต้น ซึ่งสามารถหาซื้อยาจากร้านขายยาเพื่อรักษาอาการเรอ จำพวกยาลดกรด ยาช่วยย่อย หรือ ยาขับลมในกระเพาะ ทานได้ เพื่อเป็นการบรรเทาอาการต่างๆ
และในกรณีผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ที่มีอาการแสบร้อนกลางหน้าอก เรอบ่อยๆ เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ ฯลฯ อาจจะต้องเข้าปรึกษากับทางแพทย์โดยตรง ก่อนการทานยาทุกชนิด เพื่อแพทย์จะได้จ่ายยาที่รักษาอาการได้ตรงจุดกว่าการซื้อยาทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจทำลายเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล ซึ่งรักษายากกว่าเดิม
อาหารเสริม รักษาอาการเรอ
การทานอาหารเสริมประเภท เอนไซม์ α-Glucosidase ที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะเยอะ ท้องอืด แน่นท้อง แต่การใช้ยาตัวนี้ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เพราะหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจส่งผลต่อร่างกาย อาการข้างเคียงต่างๆ หรือแพ้ยาได้
สมุนไพรรักษาอาการเรอ
การรักษาอาการเรอด้วยสมุนไพร นั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมกันมาก หาซื้อทานได้ง่าย ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้สามารถช่วยลดอาการต่างๆ ได้เช่น ลดอาการแน่นท้อง ท้องอืด เรอบ่อย อีกทั้งสมุนไพรรักษาอาการเรอบางชนิดยังสามารถช่วยยับยั้งการเกิดแผลในทางเดินอาหารได้อีกด้วย แต่การใช้สมุนไพในการรักษาจะต้องศึกษาสรรพคุณให้ดีก่อนนำมาใช้ ว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
- ขมิ้นชัน : มีสรพคุณช่วยลดอาการ เรอบ่อย ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร อีกทั้งในขมิ้นชันยังมีสารตัวสำคัญที่ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย
- ขิง : เป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการท้องอืด แน่นท้อง มีลมในท้องเยอะ ช่วยขับลมด้ในกระเพาะ แก้อาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน สามารถรับประทานสดหรือต้มเพื่อดื่มก็ได้เช่นกัน
- กระเทียม : นอกจากมีสรรพคุณที่ช่วยลดไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูงแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องระบบการย่อยอาหารอีกด้วย ในกระเทียมจะมีสารสำคัญทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหาร ทำให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อยได้ เป็นต้น
- หอมแดง : เป็นสมุนไพรรักษาอาการเรอได้ดีอีกชนิดหนึ่ง เพราะมีสรรพคุณช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด แน่นท้อง
- ตะไคร้ : นำมาต้มดื่ม ซึ่งในตะไคร้จะมีสารที่ช่วยในการขับลม ลดอาการจุกเสียดท้อง แน่นท้อง ขับน้ำดีมาช่วยย่อยอาหาร
- พริกไทยดำ : นอกจากจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีแล้ว ยังเป็นยาช่วยย่อยอาหารชั้นดี ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาการจุกเสียดท้อง และช่วยขับลม
- คาโมมายล์ : ส่วนมากจะมาในรูปแบบอบแห้ง นำไปชงเป็นชาร้อนไว้ดื่ม ซึ่งนอกจากจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีสรรพคุณที่ช่วยในการขับลม ลดการเกิดแผลในกระเพาะและหลอดอาหาร
‘ท้องอืด’ ทำให้เกิดอาการ เรอบ่อย!
อาการเรอยังพบมากในกลุ่มคนที่มีอาการ ท้องอืด ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะมีอาการหลักๆ คือ รับประทานอาหารแล้วรู้สึกอิ่มง่าย บางคนก็อาจจะไม่ได้รับประทานอาหารก็รู้สึกว่าอิ่มง่าย หรือบริเวณช่วงท้องมีขนาดใหญ่ และสาเหตุมาจากแก๊สในกระเพาะเยอะเกินไป จึงทำให้เกิดการเรอ แน่นท้องนั่นเอง และหากรักษาในระยะแรกโดยการปรับพฤติกรรม เลือกทานอาหารที่ลดการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารก็สามารถขาด แต่หากเกิดอาการท้องอืดบ่อย ปล่อยทิ้งไว้นาน อาจทำให้เกิดเป็นท้องอืดเรื้อรังได้ ซึ่งการทานยาก็ไม่สามรถรักษาให้หายขาดได้แล้ว
ท้องอืดเรื้อรัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- โรคทางเดินอาหาร
- กระเพาะอาหารเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบ
- ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือยานอนหลับ
- โรคต่อมไร้ท่อบางชนิด
- โรคเบาหวาน
- ไทรอยด์ต่ำ
- ขาดเอนไซม์ย่อยน้ำวัว (แพ้นม)
- ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก
ซึ่งถ้าหากอยากรู้ว่าการที่เรอบ่อย หรือท้องอืดเกิดจากสาเหตุใด สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจหาได้ โดยแพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุด้วยการซักถามประวัติ การใช้ยา และโรคประจำตัว และใช้การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ตรวจลำไส้ใหญ่ ในกรณีมีการถ่ายอุจาระดำ หากไม่พบสาเหตุ ก็อาจจะต้องทำการตรวจโดยใช้ เครื่องตรวจลมหายใจ (Hydrogen Breath test) เข้ามาช่วยหาแบคทีเรียเกิน โดยหน้าที่หลักของเครื่องจะทำการตรวจหาก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน ที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหาร เพื่อแพทย์จะทำการรักษาต่อได้อย่างตรงจุด
- ภาวะขาดเอนไซม์ย่อยน้ำวัว (แพ้นม) ผู้ป่วยต้องทำการงดอาหารจำพวกนม และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม หรือมีส่วนผสมของนมทุกชนิด เช่น ไอศกรีม เนย โยเกิร์ต
- ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก ผู้ป่วยต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพื่อลดปริมาณเชื้อในลำไส้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ เช่น อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ถั่ว แป้ง แอปเปิ้ล กระเทียม เป็นต้น
- โรคเบาหวาน ต้องควบคุมอาหาร ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือหากเป็นโรคเบาหวานแล้ว โดยเฉพาะในคนที่อ้วนมาก สามารถรักษาให้หายได้โดยการ ผ่าตัดกระเพาะ ซึ่งมีผลงานวิจัยบ่งชี้ว่านอกจากนี้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนที่ได้ผลที่ที่สุดแล้ว ยังสามารถรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
- ในผู้ป่วยที่เป็น โรคกรดไหลย้อน ที่มีอาการท้องอืด เรอ ร่วมด้วยนั้น สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือการทานยา แต่ต้องทานตลอดชีวิต และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งสาเหตุจริงๆ ของโรคกรดไหลย้อนคือ หลอดอาหารเป็นแผล จากการที่น้ำย่อยไหลกลับขึ้นไป ทำให้เนื้อเยื่อเกิดการระคายเคือง ซึ่งไม่มียาที่สามารถรักษาได้ ต้องอาศัยอีกวิธีนั่นก็คือ การผ่าตัดกรดไหลย้อน แทน ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ปลอดภัยได้มาตรฐาน และที่สำคัญคือ สามารถหยุดทานยาลดกรดได้เลยหลังวันผ่าตัด
ยาแก้ท้องอืด
สำหรับตัว ยาแก้ท้องอืด ที่จะช่วยในเรื่องของการลดหรือบรรเทาอาการท้องอืด มีลมในกระเพาะเยอะนั้น หลักๆ จะมี 2 ตัวยา คือ Domperidone ที่ช่วยให้แก๊สในกระเพาะเคลื่อนตัวผ่านระบบย่อยอาหารได้อย่างรวดเร็ว กับ Simethicone ตัวยาแก้ท้องอืด ที่ช่วยขับลมในกระเพาะ บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้องรวมไปถึงรักษาอาการท้องอืดด้วย
จากที่ทำความเข้าใจกันไปแล้วการรับประทานอย่างพอดีพอควรก็เป็นตัวช่วยลดการเกิดของปัญหาในระบบทางเดินอาหารได้ ยังไงอย่าลืมนำไปปรับใช้และปฏิบัติตามให้ห่างไกลจากอาการเหล่านี้กันนะ
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography