โรคหอบหืด (Asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ที่มีผลทำให้หลอดลมของผู้ป่วย มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ (bronchial hyper-responsiveness, BHR) ผู้ป่วยมักมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด (wheeze) หรือหอบเหนื่อยเกิดขึ้น เมื่อได้รับสารก่อโรคหรือสิ่งกระตุ้น
โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด อาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง หรือหายไปเมื่อได้รับยาขยายหลอดลมและทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง โรคหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้ และไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
สาเหตุของโรค หอบหืด
โรคหอบหืดหรือหืด เกิดจากการอักเสบของหลอดลมเรื้อรัง ร่วมกับการที่หลอดลมมีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของโรคหืด ได้แก่
- สารก่อภูมิแพ้ (allergen) แบ่งเป็น กลุ่มสารก่อภูมิแพ้ในอาคาร เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง สปอร์เชื้อรา และกลุ่มสารก่อภูมิแพ้นอกอาคาร เช่น เกสรหญ้า วัชพืช สปอร์เชื้อรา
- สารระคายเคือง เช่น น้ำหอม กลิ่นสี ทินเน่อร์ น้ำยาหรือสารเคมี ละอองยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ฝุ่นก่อสร้าง ฝุ่นหิน ฝุ่นดิน ควันบุหรี่ ควันธูป ควันเทียน ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน เป็นต้น
- การติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ
- สภาวะทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ลมพัด ปะทะหน้าโดยตรงรวมทั้งอากาศร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศแห้ง หรือชื้น เป็นต้น
- ยารับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน (aspirin) และยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
- อารมณ์เครียด
- หืดที่ถูกกระตุ้นด้วยการออกกำลังกาย
- หืดที่ถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ หรือสารระคายเคืองจากการประกอบอาชีพ
- โรคที่พบร่วมได้บ่อย และทำให้ควบคุมอาการหืดได้ไม่ดี หรือมีอาการกำเริบบ่อย ๆ ได้แก่ โรคภูมิแพ้ของโพรงจมูก โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
- โรคอ้วน หรือคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติ นอกจากจะเสี่ยงกับภาวะไขมันอุดตันหลอดเลือดและหัวใจแล้ว ล่าสุดยังค้นพบว่า ไขมันส่วนเกินสามารถเข้าไปสะสมตัวในปอด จนเบียดทางเดินหายใจให้ตีบแคบลง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหายใจลำบากและโรคหอบหืดในคนอ้วนได้ โดยเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) จะไปเกาะตามผนังของหลอดลมเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของน้ำหนักตัวและดัชนีมวลกาย (BMI) จนทำให้โครงสร้างของทางเดินหายใจในปอดผิดรูปไปจากเดิม และมีการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดเพิ่มขึ้น รวมถึงไขมันที่สะสมในบริเวณผนังทรวงอกและผนังหน้าท้อง ทําให้การขยายตัวของผนังทรวงอกและการหดตัวของกระบังลม (diaphragm) ลดลง ทำให้หายใจลำบากมากขึ้น มีการศึกษาในผู้ใหญ่ถึงสมรรถภาพของปอดในโรคอ้วน พบว่าหลังจากให้ลดน้ำหนักลงมาจะทำให้ปริมาตรของปอด สมรรถภาพของปอด การแลกเปลี่ยนก๊าซ ดีขึ้นได้
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการโรค หอบหืด
- การซักประวัติ ได้แก่ ไอเรื้อรัง (ไอนานมากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป) ประวัติการหายใจและได้ยินเสียงวี๊ด (wheeze) ประวัติหายใจลำบาก หรือแน่นหน้าอก อาการมักจะเป็นเวลากลางคืน ผู้ป่วยส่วนมากมักจะมีประวัติตั้งแต่ในวัยเด็ก และอาการมักเป็นมากขึ้นเมื่อมีการสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ ทั้งในและนอกอาคาร นอกจากนี้อาจได้ประวัติของโรคภูมิแพ้ (atopic disease) ร่วมด้วย เช่น ภูมิแพ้จมูก หรือโรคลมพิษเรื้อรัง หรือมีประวัติคนในครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด โดยอาการทั้ง 3 อย่างของหอบหืด (asthma triads) คือ ไอ หายใจมีเสียงวี๊ด (wheeze) และอาการหอบ ไม่ได้พบในผู้ป่วยหอบหืดทุกราย บางรายอาจมีเฉพาะอาการไออย่างเดียว
- การตรวจร่างกาย ฟังเสียงปอดทั้งสองข้าง แต่ถ้าตรวจในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีการกำเริบของโรค หรือไม่มีอาการหอบก็อาจจะตรวจร่างกายปกติได้
- ยืนยันด้วยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (การทดสอบสมรรถภาพปอด) ดูว่ามีลักษณะของหลอดลมตีบ ชนิดที่ตอบสนองต่อยาพ่นขยายหลอดลม (reversible airflow obstruction) หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าการวินิจฉัยหอบหืดนั้นจะสามารถทำได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่สงสัยโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยการทดสอบสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (spirometric testing) และการวัดค่า peak expiratory flow rate หรือเรียกสั้นๆ ว่า peak flow โดยการเป่าอุปกรณ์ที่เรียกว่า peak flow meter
หอบหืด รักษาหายได้หรือไม่? ทำอย่างไร?
การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืดนั้น หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจทำให้หลอดลมเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือทำให้สมรรถภาพปอดของผู้ป่วยต่ำกว่าปกติ และหลอดลมจะไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างถาวร เพราะฉะนั้นการรักษาโรคหอบหืดจึงควรทำแต่เนิ่นๆ ซึ่งแนวทางในการรักษาโรคหอบหืดประกอบไปด้วย
- การรักษาภาวะอักเสบเพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบลง
- การป้องกันอาการกำเริบด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด
อย่างที่ทราบกันว่าการอักเสบของหลอดลมนั้น เป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคหอบหืด เพราะฉะนั้น ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืดคือ ยาต้านการอักเสบ ส่วนยาขยายหลอดลมใช้เมื่อมีการตีบของหลอดลมจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเกิดขึ้น
ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย หอบหืด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ยาที่ใช้ควบคุมโรคหืด (controllers)
ใช้เพื่อรักษาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ต้องใช้เป็นประจำ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการหอบก็ตาม (regular use basis) โดยไม่ได้บรรเทาแก้ไขอาการหอบ
ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (inhaled corticosteroid หรือ ICS) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากเม็ดเลือดขาว และยังมียากลุ่มอื่นๆ ที่สามารถใช้ได้ เช่น ยาต้านตัวรับลิวโคไตรอีน (anti-leukotriene) หรือยากลุ่มทีโอฟิลลีน (theophylline) ที่ออกฤทธิ์ยาว เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการนำยาขยายหลอดลมที่ต้านตัวรับบีต้าที่ออกฤทธิ์ยาว (long acting beta agonist) มาผสมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด เพื่อเสริมฤทธิ์กันในผู้ป่วยที่ไม่สามารถคุมอาการหอบหืดได้จากการใช้ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดเพียงอย่างเดียว
2. ยาที่ใช้บรรเทาอาการของโรคหืด (relievers)
ใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบ ได้แก่ ยาขยายหลอดลมชนิดสูดที่ออกฤทธิ์เร็ว (rapid onset inhaled bronchodilator) จะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ (as needed basis) การที่ผู้ป่วยมีการใช้ยาพ่นหรือสูดขยายหลอดลมบ่อย หรือเป็นประจำเป็นข้อบ่งชี้ว่าการควบคุมโรคหอบหืดได้ผลไม่ดี
เนื่องจาก โรคหอบหืดเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอาการเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น แพทย์จะประเมินผลการรักษาด้วยยาเป็นระยะ และอาจต้องปรับเปลี่ยนหรือลด-เพิ่มขนาดของยาตามความจำเป็น เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา และลดความเสี่ยงของอาการกำเริบเฉียบพลันซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
Ref.
-
แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยเด็ก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2564
-
แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทย 5 สำหรับผู้ใหญ่และเด็ก พ.ศ. 2555
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography