หัวล้าน ผมร่วง เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร จะมีเส้นผมเหมือนเดิมไหม

หัวล้าน ผมบาง ผมร่วง แก้ไขอย่างไร

หัวล้าน เกิดจากอะไร รักษาได้ไหมเป็นคำถามที่หลายคนคาใจ โดยเฉพาะผู้ชายที่เป็นปัญหาที่มาปรึกษามากที่สุด เพราะการที่ศีรษะล้านก่อนวัย ทำให้ดูแก่ไปมาก ส่งผลกระทบกับจิตใจและการเข้าสังคม

เข้าใจธรรมชาติของเส้นผมก่อน มันเป็นยังไง

เส้นผม ชุดแรกของคนเริ่มตั้งแต่อยู่มนท้องแม่ตั้งครรภ์แค่ 4-5 สัปดาห์ เป็นขนเส้นเล็กๆ ไม่มีสีและจะหลุดร่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอด (ก็ไม่รู้มีไว้ทำไมเหมือนกัน)  หลังจากนั้นจะมีผมขึ้นใหม่อีก 2 ชนิด แบ่งตามขนาดของเส้นขนเลย

1. กลุ่มแรกคือขนอ่อน  (vellus hair) เป็นขนอ่อนเล็กๆ ตามตัวและใบหน้า ไม่มีสีและยาวไม่เกิน 2 ซม. สีจางมากๆและสังเกตเห็นได้ยาก

2. กลุ่มสองคือขนแข็ง หรือ Terminal hair เป็นผมเส้นใหญ่ หยาบและยาวกว่ากลุ่มแรก มีสีตามเชื้อชาติ ขนพวกนี้จะกระจายอยู่ทั่วร่างกายและมีลักษณะต่างกัน หากเป็นขนที่ศีรษะและหนวดเคราจะยาวได้เรื่อยๆ และต้องตัดทิ้ง แต่หากเป็นขนที่หัวเหน่า หน้าอก หน้าแข้ง ตามลักษณะเพศ กลับจะยาวถึงจุดหนึ่งก็หยุดยาวต่อ (ลักษณะนี้ก็แปลก เพราะหากเราย้ายขนหน้าแข้งไป ปลูกผม ในคน หัวล้าน ก็จะไม่ได้ผมที่ยาวต่อ แต่จะยาวไม่เกิน 1-2 เซนตามชาติกำเนิดของขนเส้นนั้นๆ

ในทางกลับกันหากเอาเส้นผมที่ยาวได้เรื่อยๆ ไปปลูกที่คิ้ว จะได้คิ้วที่ยาวไม่สิ้นสุด จนต้องตัดทิ้งทุกอาทิตย์

วงจรการงอกของเส้นผม

การเข้าใจวงจรการงอกของผมนี้ จะทำให้เข้าใจการรักษา หัวล้าน มากขึ้นนะคะ โดยปกติ เส้นผม มี 3 ระยะ คือ anagen phase (อะนาเจน) , catagen phase (คะตาเจน) และ telogen phase (เทโลเจน)

  1. Anagen phase เป็นระยะเจริญเติบโต (growing phase) ต่อมผมอยู่ลึกในชั้นหนังแท้ มีรากลึกร่วงยาก เส้นผมมีสีเข้ม มีเลือดมาเลี้ยงมาก เป็นผมส่วนใหญ่ 80% ที่เราเห็นบนศีรษะ เส้นผมจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 4 ปี ก่อนจะเปลี่ยนเป็นระยะอื่นเตรียมตัวร่วงออกไป แต่อายุของขนก็แตกต่างกันตามตำแหน่ง ได้แก่ ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ มีอายุ 3-4 เดือนก็หลุด
  2. Catagen phase เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงเตรียมร่วง (transitional phase) ต่อมผมจะเลื่อนสูงขึ้น แยกตัวจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยง สีเริ่มจางลง  จะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 10 วัน
  3. Telogen phase เป็นระยะหยุดเจริญเติบโต (resting phase) ต่อมผมเลื่อนตัวสูงขึ้น ใกล้ช่องเปิดเพียงเล็กน้อยและในที่สุดจะถูกผมระยะ anagen ที่เกิดใหม่ที่จุดเดิม ดันให้มันหลุดร่วงไป ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 100 วัน

ปกติเส้นผมบนหนังศีรษะมีประมาณ 100,000 เส้น โดยอยู่ในระยะ telogen hairs ร้อยละ 10 คือประมาณ 10,000 เส้น  เมื่อผมอยู่ในระยะนี้ 100 วัน จึงเป็นที่มาว่า ผมร่วง เฉลี่ย 100 เส้นต่อวัน แต่ถ้าสระผมอาจร่วงเป็น 2 เท่าได้

การร่วงของเส้นผมบนหนังศีรษะของมนษย์ เป็นแบบ mosaic pattern คือ ร่วงจากทุกจุดสลับกันไป ไม่เหมือนของสัตว์มีขน จะร่วงเป็นชุดเป็นหย่อมๆ จากหัวไปหาง จากท้องไปหลัง เรียกว่าเป็น wave pattern

การงอกของเส้นขน ผมร่วง หัวล้าน

หัวล้าน เกิดจาก อะไร

การจะทราบว่าผมร่วง หัวล้าน เกิดจากอะไรนั้น เริ่มจากประวัติทั่วไป เช่น ร่วงนานเท่าไร ร่วงวันละกี่เส้น รับประทานยาใดประจำ มีการใช้เครื่องสำอางเส้นผม หรือ มีโรคประจำตัว และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ แล้วตรวจดู รูปลักษณะของเส้นผมที่ร่วงว่าผิดปกติ ร่วงทั้งเส้น หรือขาด และตำแหน่งที่ผมหลุดร่วงว่ามีหรือไม่มีแผลเป็น  (มีแผลที่หนังศีรษะด้วยมักเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกเช่นติดเชื้อ ภูมิแพ้)

สาเหตุของผมร่วง เกิดจากหลายปัจจัย

  1. กรรมพันธุ์ เพศ อายุ
  2. เชื้อโรคที่เล่นงานเส้นผมโดยตรง หรือเป็นผลทางอ้อม คือเป็นโรคติดเชื้อที่อวัยวะอื่น แล้วทําให้เกิดผมร่วงผิดปกติตามมาภายหลัง เช่นโรคซิลฟิลิส
  3. สารเคมีเช่น ยาชนิดต่างๆ สารพิษปนเปื้อนในอาหารและน้ำ เช่นสารปรอท
  4. โรคตามระบบต่างๆ เช่น โรคไตวาย โรคต่อม ไทรอยด์เป็นพิษ
  5. โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน จนถึงตกใจอย่างรุนแรง สําหรับอาหารการกินต่างๆ มักจะไม่มีผลต่อภาวะผมร่วง ยกเว้นภาวะขาดอาหารและวิตามิน เช่น อาการผมร่วงหลังการ ตัดกระเพาะ เพื่อลดน้ำหนัก

หัวล้าน จากพันธุกรรม (Androgenic alopecia)

เป็นภาวะ ผมบาง ทางพันธุกรรม เกิดจากปัจจัย 3 อย่างร่วมกัน

  1. มีความผิดปกติที่ฮอร์โมนเพศชาย ที่เรียกว่า ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) โดยตำแหน่งที่ผมบางลงจะเป็นตำแหน่งที่มีการตอบสนองที่ผิดปกติของตัวรับฮอร์โมนชนิดนี้ (androgen receptor)
  2. พันธุกรรม (genetics) เชื่อว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และจากทางแม่จะมีผลมากกว่าทางพ่อ
  3. อายุมากขึ้นผมจะยิ่งบางลง

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เส้นผมในระยะ anagen ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละรอบของ Hair growth cycle หรือวงจรการงอกของเส้นผม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงจนเส้นผมที่เป็น terminal hairs กลายเป็นขนอ่อน หรือ vellus hairs  โดยที่ภาวะผมบางที่พันธุกรรมนี้ในผู้ชายและผู้หญิงมีอาการแสดงที่แตกต่างกัน

  • ในผู้ชายจะเรียกชื่อโรคว่า Androgenic alopecia
  • ในผู้หญิงจะเรียกชื่อโรคว่า Female pattern hair loss

ผมจะค่อยๆร่วงจากหน้าไปหลังตามอายุที่มากขึ้น (จากเบอร์ 1 ไปเบอร์ 7)

ผมร่วง หัวล้าน จากพันธุกรรม

อาการของโรค ผมบางจากพันธุกรรม เป็นอย่างไร?

ในผู้ชาย ส่วนใหญ่ผมจะเริ่มบางตั้งแต่บริเวณไรผม บริเวณหน้าผากขึ้นไป ต่อมาผมบริเวณกลาง ศีรษะจึงเริ่มบางลง เมื่อเวลาผ่านไป ผมจะบางเป็นบริเวณกว้างมากขึ้นจน หัวล้าน ในที่สุด

จะใช้เกณฑ์ Hamilton-Norwood Classification ในการประเมิน โดยประเมินจากความรุนแรงของศีรษะล้านที่อยู่บริเวณด้านข้าง (Bitemporal) เเละ บริเวณกลางศีรษะหรือกลางกระหม่อม (Vertex) แบ่งความรุนแรงได้เป็น 7 ระดับ

ในผู้หญิง มักจะมีการบางของผมบริเวณกลางศีรษะมากกว่าด้านหน้าผาก ส่วนน้อยที่จะมีการบางของผมด้านหน้าร่วมด้วยคล้ายกับผู้ชาย เมื่อเวลาผ่านไป ผมจะบางเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น

จะใช้เกณฑ์ Ludwig Classification ซึ่งเเบ่งระดับความรุนแรงของศีรษะล้านได้เป็น 3 ระดับ โดยประเมินจาก ความกว้างของพื้นที่ผมบาง ศีรษะล้านบริเวณด้านหน้า (Temporal) และ ตรงกลาง (Vertex) ของศีรษะ

ผมร่วง หัวล้าน ในผู้หญิง

การรักษาหัวล้าน (medical treatment)

  1. ในผู้ชาย สามารถรักษาได้ด้วยยาทาและยารับประทาน ในคนที่เป็นยังไม่มาก ควรเริ่มรักษาด้วยยาทาคือ 2-5% Minoxidil lotion เพียงอย่างเดียวก่อน ส่วนในคนที่เป็นมาก เช่น คนที่มีผมบางมากจนเห็นหนังศีรษะเป็นบริเวณกว้าง อาจให้การรักษาด้วยยาทา 2-5% Minoxidil lotion ร่วมกับยารับประทาน Finasteride 1 มิลลิกรัมต่อวัน
  2. ในผู้หญิง ควรรักษาด้วยยาทา 2% Minoxidil lotion เพียงอย่างเดียว ส่วนการรักษาด้วยยารับประทานสำหรับผู้หญิงยังไม่อยู่ในแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน (clinical practice guideline) เนื่องจากยา Finasteride 1 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าใช้ไม่ได้ผลในผู้หญิง ยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนอื่น ๆ มีรายงานการศึกษาว่าอาจจะได้ผล แต่ยังจำเป็นต้องรอผลการศึกษามากขึ้นทางด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย เนื่องจากผู้ป่วยหญิงที่ต้องการรับประทานยาจำเป็นต้องป้องกันการตั้งครรภ์เนื่องจากยาก่อให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ และผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงทางร่างกายด้านอื่น ๆ

การรักษา หัวล้าน ผมบาง ด้วยการปลูกผมของตัวเอง

  • FUT (Follicular Unit Transplantation) เป็นวิธีการผ่าตัดเอาหนังศีรษะออกมาเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในบริเวณด้านหลังที่มีความแข็งแรง จากนั้นเย็บปิดแผล และนำหนังศีรษะที่ได้มาคัดแยกด้วยกล้องจุลทรรศน์ ที่มีกำลังขายสูง 10 เท่า ใน 1 เซลล์รากผมหรือที่เรียกกันว่ากราฟ จะประกอบไปด้วยเส้นผมตั้งแต่ 1-4 เส้น ซึ่งแพทย์จะตัดแยกรากผมซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพื่อไม่ให้รากผมเสียหาย หรือเสียหายน้อยที่สุด จำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำโดยผู้ที่ชำนาญ หลังจากนั้นนำเซลล์ที่คัดแยกได้เป็นกราฟ ไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ ซึ่งเป็นวิธีที่จะได้รากผมจำนวนมากในคราวเดียว อาจจะถึง 3,000-4,000 กราฟ โดยไม่มีการเสียหายของเส้นผม รอยแผลมีลักษณะเป็นเส้นตรงบางๆ ด้านหลังศีรษะ หากมีเส้นผมปิดก็มองไม่เห็นแผลเลย
  • FUE (Follicular Unit Extraction) เป็นวิธีการใช้เครื่องมือเจาะย้ายรากผมที่แข็งแรง ซึ่งเครื่องมือมีหัวเจาะขนาดประมาณ 8-1.0 มม. วิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญการเฉพาะทาง เพราะด้วยเครื่องมือที่มีขนาดเล็กมา จึงต้องมีความละเอียดและแม่นยำที่สุด เพื่อไม่ให้รากผมเสียหาย หลังจากนำรากผมออกมาแล้ว ก็นำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการได้เลย ข้อดีคือ มีแผลเป็นน้อยกว่า อาจจะเป็นจุดขาวๆที่สังเกตุได้ยาก เจ็บน้อยกว่า แต่อาจจะได้จำนวนรากผมมาน้อยกว่า หรือรากผมที่ดึงออกมาบางส่วนขาดหรือเสียหายได้
ปลูกผม fue ผมบาง ผมร่วง หัวล้าน

การปลูกผมด้วย hair fiber

การปลูกผมชนิดนี้คือการใช้เส้นใยสังเคราะห์ที่ออกแบบมาเหมือนเส้นผม โดยไม่ต้องย้ายรากผมตัวเองมาปลูก จึงทำให้เจ็บตัวน้อยและใส่เส้นผมได้ไม่จำกัดหรือยาวตามที่ต้องการจนแน่นแก้ หัวล้าน ได้ดี นั่นคือข้อดี ส่วนข้อเสียร้ายแรงมากของวิธีนี้คือ hair fiber พวกนี้มีโอกาสแพ้ได้และการถอดดึงออก ไทำยากมาก เพราะเขาออกแบบให้มีตะขอเกี่ยวเพื่อเอออกยาก เหมาะแก่การสระผมว่ายน้ำได้โดยผมไม่หลุด แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่หากจะแกะออกจริงๆ หลังการอักเสบ อาจจะตามมาด้วยแผลเป็นหนังศีรษะและทำให้ผมไม่งอก ณ จุดนั้นอีกต่อไป รักษายากมากค่ะ

สรุปง่ายๆ ไม่ควรไปทำค่ะ 

hair fiber แบบนี้แตกต่างจากการใช้ hair fiber ที่เป็นผงดำๆ โรยกลบบริเวณที่ หัวล้าน นะคะ อันนั้นใช้ได้เลย แต่ข้อเสียที่คนไทยไม่นิยมใช้คือมันไหลลงพร้อมเหงื่อได้และถ้าเจอฝนตกใส่ ไม่เหลือ ดังนั้น อาจจะนิยมในประเทสเมืองหนาวแต่ไม่ค่อยถูกโฉลกกับเมืองร้อนมากนัก

การรักษาด้วยสเต็มเซลล์

Stem cell Hair Transplant เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยให้ผมหนาขึ้น รักษาผมบางโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการนำเอาเซลล์ผมและหนังศีรษะจากบริเวณด้านหลัง เนื่องจากเซลล์เส้นผมบริเวณดังกล่าวมีความแข็งแรง โดยนำมาใช้เทคโนโลยีพิเศษเพื่อแยกเซลล์เส้นผม มาเป็นเซลล์ที่พร้อมจะนำไปฉีดกลับเข้าไปผิวหนังบริเวณที่ผมร่วง โดยพบว่าเซลล์เหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เส้นผมหนาขึ้นหรือสร้างผมขึ้นมาใหม่ได้ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีปัญหา ผมบาง รอยแสกกว้าง หัวล้าน ผมบางเป็นหย่อมๆ และไม่ต้องการผ่าตัด กลัวเจ็บ

การรักษา ศีรษะล้าน ด้วย PRP (Platelet Rich Plasma)

PRP (Platelet Rich Plasma) หรือ เกร็ดเลือดเข้มข้น คือ เกร็ดเลือดที่มีความเข้มข้นกว่าเกร็ดเลือดทั่วไปที่อยู่ในกระแสโลหิตทั่วไปถึง 3-4 เท่า โดยเกล็ดเลือดเข้มข้นที่เหมาะสมในการใช้รักษา ควรมีปริมาณเกล็ดเลือดประมาณ 1,000,000 หน่วยต่อไมโครลิตร ซึ่ง PRP จะได้จากการนำเลือดมาปั่นแยกชั้นออกมาโดยการใช้เครื่องเหวี่ยงสาร (Centrifuge) และเติมสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดลงไปเพื่อให้เลือดแยกชั้นเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดแดง PRP จะประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ ที่ช่วยการแข็งตัวของเลือด ช่วยสร้างและส่งเสริมการสร้างเส้นเลือด กระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งของเซลล์ผิวหนัง กระดูก คอลลาเจน ช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ซ่อมแซมเซลล์ผิว

 ประโยชน์ของ PRP ในภาวะผมร่วงผมบาง

  • สามารถชะลออาการผมบางและช่วยให้ผมกลับมาแข็งแรงขึ้น
  • สามารถช่วยให้ผมที่บาง หนาตัวและมีความแข็งแรงขึ้นอี

การใช้แสงรักษาผมร่วง ผมบาง หัวล้าน

LLLT เทคโนโลยีการรักษาผมร่วง ผมบางด้วยการฉายแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ ซึ่งเป็นการนำเอาแสงเลเซอร์สีแดง Red-beam/near-infrared ที่มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 600-700 นาโนเมตร มาฉายลงบนหนังศีรษะของคนไข้ที่มีปัญหาผมบาง เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูการทำงานของเซลล์สร้างรากผม ทำให้เซลล์มีพลังงาน และทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้เซลล์รากผมสามารถสร้างและหลั่งโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) เพิ่มขึ้น แบ่งตัว และเพิ่มจำนวนได้ดีขึ้นนอกจากนี้ยังสามารถลดการอักเสบของเส้นผม และที่หนังศีรษะได้อีกด้วย

ในปัจจุบันในการรักษาคนไข้โรคผมบางจากพันธุกรรม จะรักษาด้วยการใช้ยาชนิดทาหรือทานก่อน ส่วนเแสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ LLLT นี้ให้เป็นการรักษาเสริมเข้าไป หรือให้ในคนไข้ที่ไม่อยากทานยา หรือมีผลข้างเคียงจากยา หรือเสริมกับการผ่าตัดปลูกผมในรายที่ภาวะผมบางจากพันธุกรรมเป็นรุนแรง

การใช้แสงรักษาผมร่วง ผมบาง หัวล้าน

การใส่วิก wig and hairpiece (วิกผม)

เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับคนไข้ที่มีปัญหา ศีรษะล้าน หัวล้าน แต่ไม่ต้องการที่จะรักษาด้วยการทานยา, ปลูกผม หรือผ่านการรักษามาทุกวิธีแล้วแต่ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจและต้องการความแน่นของผมเป็นพิเศษ

ข้อดี

  • ได้เส้นผมที่ดก แน่นมาก
  • ไม่เสี่ยงต่อการปลูกผม
  • ไม่เจ็บและไม่ต้องพักฟื้น

ข้อเสีย

  • ราคาแพงมากและจ่ายเรื่อยๆทุกเดือนตลอดชีวิต ทั้งการซ่อมผม เติมผม หรือสระผม บางแห่งบังคับใช้แชมพูพิเศษของตัวเอง
  • ขาดความมั่นใจในบางเรื่องเนื่องจากกลัววิกหลุด
  • ดูไม่เป็นธรรมชาติเพราะผมดกอยู่แบบนั้นตลอดเวลาแม้จะแก่ตัวลง (จริงๆแก้ได้ด้วยการที่ทำให้ผมบางลงหรือไรผมสูงขึ้นตามอายุ)
  • ไม่สามารถเลิกใส่ได้ เพราะภาพพจน์เป็นคนผมดกมาตลอด

การสักผม เพ้นท์หนังศีรษะ 3 มิติ (Cover Paint) แก้ หัวล้าน

ในปัจจุบันการสักไรผม ได้รับความนิยมมากขึ้น มีทั้งสักแบบจุด และแบบลายเส้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของช่างที่รับสัก มีความสำคัญมากเนื่องจากประสบการณ์จะสามารถช่วยให้การวิเคราะห์ การประเมินเรื่องความเหมาะสมของปริมาณในการเพ้นท์หนังศีรษะหรือสักไรผม ให้มีความถี่ที่ไม่มากไปและน้อยไป และยังต้องคำนึงถึงตำแหน่งในการสักเสมอ โดยวิเคราะห์เรื่องความเข้ม ความอ่อน และค่อยๆบางลงเพื่อความสมจริง

ใครบ้างที่เหมาะกับการ สักผม

  1. เหมาะกับผู้มีปัญหาผมบางในบางจุดเช่นรอยแสกผม หรือคนที่มัดผมบ่อยๆและดึงรั้งผมมากเกินไป จนทำให้ผมบริเวณหน้าผากบางลง เป็นต้น
  2. เหมาะกับผู้ที่ปัญหาผมร่วงเฉพาะจุด
  3. เหมาะกับผู้ที่มีปัญหา หัวล้าน และปลูกผมไม่ได้
  4. เหมาะกับผู้ที่ชอบดึงผมทำให้เกิดผมบางเป็นหย่อมๆ
  5. เหมาะกับคนที่ทำ Hair Transplant แต่ยังมีปัญหาเรื่องผมบาง หรือไม่เป็นธรรมชาติ ตลอดจนการทำ Hair Transplant ที่มีความห่างของช่องว่างมากเกินไป
  6. เหมาะกับคนที่มีปัญหารอยแผลเป็นบริเวณหนังศีรษะ เช่นเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
  7. เหมาะกับคนที่เส้นผมร่วงไปตามอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากเส้นผมจะกลายเป็นสีขาวแล้ว การผลิตเซลล์เส้นผมก็จะน้อยลงด้วย ส่งผลให้ผมเริ่มบางในบางจุดเพราะไม่มีเส้นผมเส้นใหม่ขึ้นทดแทน

References:

  1. Hamilton JB. Male hormone stimulation is pre-requisite and incident in common baldness. Am J Anat 1942;71:450-80.
  1. Norwood OT. Standard for classification of most common types of male pattern baldness. South Med J 1975;68:1359-65.
  1. Ludwig E. Classification of the types of androgenetic alopecia (common baldness) occurring in the female sex. Br J Dermatol 1977;97:247-54
  2. Tosti A, Piraccini BM. Diagnosis and treatment of hair disorders: an evidence based atlas. London: Taylor & Francis Group; 2006.
  1. Pathomvanich D, Pongratananukul S, Thienthaworn P, Manoshai S. A random study of Asian male androgenetic alopecia in Bangkok, Thailand. Derm Surg 2002;28(9):804-7.
  2. https://www.dst.or.th/Publicly/Articles/1110.23.15

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณ การใช้งานเว็บไซต์นี้แสดงว่าคุณยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า