ไส้เลื่อน (hernia) คืออะไร หากเป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร?

ไส้เลื่อน คืออะไร

ไส้เลื่อน หรือ Hernia คือภาวะที่อวัยวะหรือบางส่วนของอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร หรือแผ่นไขมันในช่องท้อง ยื่นออกจากช่องท้องผ่านทางกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ หรือมีรูเปิดผิดปกติไปยังตำแหน่งอื่น ซึ่งอาจเป็นตำแหน่งใดก็ได้ในส่วนท้อง ตั้งแต่เหนือสะดือลงมาจนถึงใต้ขาหนีบ

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีก้อนนูนออกมาสามารถคลำพบได้โดยง่ายเวลา ยืน เดิน ออกกำลังกาย ไอจาม ซึ่งในบางครั้งไส้เลื่อนอาจยุบเข้าช่องท้องได้เองในเวลานอน และสามารถใช้มือดันบริเวณก้อนเบาๆ ให้เข้าไปได้ แต่บางรายอาจไม่สามารถยุบเข้าช่องท้องได้ อาจเกิดเป็นภาวะฉุกเฉินที่เรียกว่า ไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated hernia) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อผ่าตัด หรือในผู้ป่วยบางรายก็ไม่ได้มาด้วยก้อนนูน แต่อาจจะมาด้วยอาการกรดไหลย้อนได้ เช่น ไส้เลื่อนกระบังลม

สารบัญ

1. คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อน

2. อาการไส้เลื่อน มีลักษณะอย่างไร?

3. ไส้เลื่อน มีกี่ชนิด? แต่ละชนิดเกิดได้อย่างไร?

4. ไส้เลื่อนอันตรายไหม?

5. เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

6. ขั้นตอนการตรวจโรคไส้เลื่อน

7. วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน

8. วิธีป้องกัน การเกิดไส้เลื่อน

9. หากผ่าตัดไส้เลื่อนแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?

คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อน

  • คนที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • ยกของหนักเป็นประจำ
  • ต่อมลูกหมากโต ต้องเบ่งปัสสาวะเป็นประจำ
  • มีอาการไอเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง
  • ภาวะที่เกิดน้้าในช่องท้องมากๆ
  • ภาวะท้องผูก เบ่งถ่ายอุจจาระ
  • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
อาการ ไส้เลื่อน

อาการไส้เลื่อน มีลักษณะอย่างไร?

อาการหลักของโรคไส้เลื่อน ที่สามารถสังเกตุอย่างเห็นได้ชัดก็คือ คลำพบก้อนบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น บริเวณขาหนีบ , กระบังลม, สะดือ เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย หรือในกรณีที่ไม่มีก้อนนูนออกมานอกร่างกาย แต่มีอาการอื่นๆ ที่อาจบ่งชี้ได้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อนได้เช่นกัน อาทิ ปวดท้องเวลาไอหรือจาม , อาการท้องผูก มีเลือดปนในอุจจาระ, ท้องอืด, คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ เพราะฉะนั้นควรเข้ารับการตรวจกับทางแพทย์โดยเร็วที่สุด

ตัวอย่าง เคสไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้อง

ไส้เลื่อน บริเวณหน้าท้อง
กลับสู่สารบัญ

ไส้เลื่อน มีกี่ชนิด? แต่ละชนิดเกิดได้อย่างไร?

ไส้เลื่อนเป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย และแบ่งออกได้หลายชนิด ตามตำแหน่ง และสาเหตุของการเกิดโรค ดังนี้

  1. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernia)
  2. ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia)
  3. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (femoral hernia)
  4. ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia)
  5. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernia)
  6. ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia)
  7. ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (spigelian hernia)

1. ไส้เลื่อน บริเวณขาหนีบ (Inguinal hernia)

อาการไส้เลื่อน บริเวณขาหนีบ ผู้ป่วยจะมีอาการหลักๆ คือ คลำพบก้อนบริเวณขาหนีบ ปวดหน่วงๆ บริเวณก้อน ก้อนจะโตขึ้นในขณะที่ยกของหนัก ไอหรือจามแรงๆ จะทำให้ก้อนนี้โผล่ออกมา เมื่อนอนลงดันก้อนเข้าไปในรูบริเวณขาหนีบก้อนจะหายไป ซึ่ง ไส้เลื่อน ชนิดนี้เป็นชนิดที่พบมากที่สุด และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่ง

  • ภาวะที่มีไส้เลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ (Indirect inguinal hernia) ซึ่งอาจต่อเนื่องไปยังถุงอัณฑะได้ ซึ่งรูนี้จะปิดไปเองตามธรรมชาติ ในระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา แต่ผู้ป่วยที่เป็น ไส้เลื่อนขาหนีบ เกิดความผิดปกติที่ทำให้รูเปิดยังคงอยู่ ทำให้ลำไส้หรือแผ่นไขมันเคลื่อนออกมาได้ และเป็นสาเหตุที่ท้าให้พบโรคไส้เลื่อนเป็นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • ภาวะ ไส้เลื่อนขาหนีบ หรือหัวเหน่า (Direct inguinal hernia) ซึ่งเกิดจากการที่ผนังหน้าท้องส่วนล่างหย่อนยาน ท้าให้มีล้าไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวเหน่า

การรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ

ปกติแล้วจะทำการรักษาโดย การผ่าตัดไส้เลื่อน เพื่อเย็บซ่อมแซมรู หรือจุดอ่อนของผนังหน้าท้องส่วนที่มีไส้เลื่อน (Herniorrhaphy) หรือการผ่าตัดแก้ไขภาวะไส้เลื่อนโดยใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรู หรือเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องส่วนนั้นๆ (Hernioplasty) ซึ่งสามารถผ่าตัดแบบเปิดหรือการส่องกล้อง ( Laparoscopic hernioplasty) ก็ได้

ไส้เลื่อน ขาหนีบ
กลับสู่สารบัญ

2. ไส้เลื่อน กระบังลม (Hiatal hernia)

อาการไส้เลื่อน ที่กระบังลม เกิดจากการที่ผนังกระบังลมหย่อนยาน เสียความยืดหยุ่น หรือมีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนขึ้นไปยังบริเวณช่วงอก และอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงร่วมคือ ความดันในช่องท้องที่มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะไส้เลื่อนที่มักพบในผู้สูงวัย จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

  • Sliding hiatal hernia คือ การที่บางส่วนของกระเพาะอาหารนับตั้งแต่ส่วนต่อระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ขึ้นๆ ลงๆ ผ่านรูบริเวณกระบังลม ขึ้นไปอยู่ในช่องอก
  • Paraesophageal hernia คือ การที่บางส่วนของกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ผ่านรูบริเวณกระบังลม ซึ่งอยู่ข้างๆ รูที่เป็นทางผ่านของหลอดอาหาร และค้างอยู่บริเวณนั้น
ไส้เลื่อน กระบังลม

ไส้เลื่อนกระบังลม อาการเป็นอย่างไร ?

ผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลม หากเป็นไม่มากอาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการ คล้ายกรดไหลย้อน  คือมีแสบร้อนกลางหน้าอก มีอาการเรอเปรี้ยวในปากหรือลำคอ เรอบ่อย รู้สึกปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก ท้องอืด อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำที่เป็นสัญญาณว่าอาจเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

ถ้าหากมีอาการกรดไหลย้อนมาเป็นเวลานาน รักษาด้วยการรับประทานยาแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ก็น่าจะสงสัยว่าตนเองอาจเป็นไส้เลื่อนกระบังลมได้  ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการทั่วไป ไม่สามารถระบุว่าเป็นโรคไส้เลื่อนกระบังลมได้แน่ชัด แต่บางครั้งก็อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคหรือภาวะอื่นๆ ก็ได้ เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ แผลในกระเพาะอาหาร

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของ ไส้เลื่อนกระบังลม นั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่คาดว่าเกิดจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ เช่น ยกของหนัก ช่องท้องถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ไอมากๆ อาเจียนอย่างรุนแรง เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ คนสูงอายุ และภาวะตั้งครรภ์ ฯลฯ

กลับสู่สารบัญ

การตรวจวินิจฉัย โรคไส้เลื่อนกระบังลม

  • การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy)
  • การกลืนแป้งและ X – ray (Upper GI Study) เพื่อดูตำแหน่งและการทำงานของหลอดอาหาร
  • การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Abdominal Scan)
  • การดูจังหวะการหดรัดตัวกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารและเพื่อหาตำแหน่ง (Esophageal Manometry)

ไส้เลื่อนกระบังลม รักษาอย่างไร?

การรักษาไส้เลื่อนกระบังลม ในระยะแรกที่อาการไส้เลื่อนเป็นไม่มาก อาจรักษาด้วยการทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เหมือนกับรักษา โรคกรดไหลย้อน แต่ถ้าอาการเป็นมากขึ้นแพทย์ก็จะพิจารณาผ่าตัดรักษา

การผ่าตัดไส้เลื่อนกระบังลม จะทำในกรณีที่การรักษาเบื้องต้นดังกล่าวไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ในปัจจุบันการผ่าตัดมักจะทำโดย การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) โดยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กบริเวณผนังหน้าท้อง และในรายที่รูไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ แพทย์จะใช้ตาข่ายชนิดพิเศษเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออกมาอีกด้วย ซึ่งช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ ด้วยการผ่าตัดวิธีนี้รอยแผลหลังผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก 5 – 10 มิลลิเมตร ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลงและสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

Nissen fundoplication หรือการผ่าตัด Nissen

“Nissen fundoplication” หรือการผ่าตัด Nissen ก็เป็นการผ่าตัดที่ใช้ในการรักษาไส้เลื่อนกระบังลมได้เช่นกัน โดยการที่เย็บกระเพาะอาหารส่วนบนล้อมรอบหลอดอาหารส่วนล่าง 360 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารเคลื่อนที่ผ่านขึ้นไปในช่องอกได้

กลับสู่สารบัญ

3. ไส้เลื่อน บริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (femoral hernia)

พบในตำแหน่งต้นขาด้านในหรือที่เรียกว่าช่อง femoral canal แต่พบได้ค่อนข้างน้อยและมักพบเฉพาะในผู้หญิง โดยสาเหตุอาจเกิดจากผนังของ ช่อง femoral canal อ่อนแอแต่กำเนิด หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงคือความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น อาการคือ จะพบก้อนใต้ขาหนีบ มีอาการปวดบริเวณต้นขา และอาจมีอาการปวดที่ขาหนีบร่วมด้วยได้

4. ไส้เลื่อน บริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia)

เป็นไส้เลื่อนที่เกิดกับผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน หรืออาจเกิดระหว่างที่แผลผ่าตัดยังไม่หายสนิทก็ได้ โดยพบได้ทุกเพศทุกวัยเนื่องจากการผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอหรือหย่อนยานจนลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ดันตัวขึ้นมา

ไส้เลื่อน บริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia)
กลับสู่สารบัญ

5. ไส้เลื่อน บริเวณสะดือ (umbilical hernia)

มักพบในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังยังปิดไม่สนิท ทำให้บางส่วนของลำไส้เคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งหรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น มักเป็นตั้งแต่แรกเกิดและจะหายได้เองเมื่ออายุ 2 ปี แต่ไส้เลื่อนสะดือยังสามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้

ไส้เลื่อน เด็กทารก
ไส้เลื่อน ในเด็กเล็ก

6. ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia)

เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้น้อยมากและมีความรุนแรงค่อนข้างมาก มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่มีรูปร่างผอมบาง

7. ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (spigelian hernia)

เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความรุนแรงซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งกล้ามเนื้อหน้าท้องที่เรียกกันว่าซิกซ์แพ็ค

ไส้เลื่อน บริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง
กลับสู่สารบัญ

ไส้เลื่อนอันตรายไหม?

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าไส้เลื่อนนั้นมีหลายชนิด บางชนิดไม่อันตราย แต่ก่อให้เกิดความรำคาญใจ หรือเกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานไม่คล่องตัว และบางชนิดก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ เช่น ไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ หากไม่รีบรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดเป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา ลำไส้อุดตัน ปวดท้อง อาเจียน ติดเชื้อ ลำไส้เน่า เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

  1. เมื่อคลำได้เป็นก้อนตุงบริเวณหน้าท้อง ตำแหน่งต่างๆ หรือบริเวณขาหนีบ
  2. คนไข้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไส้เลื่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งหากมีอาการปวดอย่างเฉียบพลันบริเวณตำแหน่งที่เป็นไส้เลื่อน อาจร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ ควรรีบมาพบแพทย์
  3. ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัย แต่มีอาการเสี่ยงของโรค ร่วมกับการมีก้อนตุงที่บริเวณหน้าท้อง หรือบริเวณขาหนีบ ควรรีบมาพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาการเหล่านี้แสดงถึงภาวะที่ไส้เลื่อนออกมาติดค้างอยู่ไม่สามารถกลับเข้าที่เดิมได้ หรือลำไส้มีอาการขาดเลือดไปเลี้ยง
พบแพทย์ เพื่อตรวจหา ไส้เลื่อน

ขั้นตอนการตรวจโรคไส้เลื่อน

  1. แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นโรคไส้เลื่อนจริง และทำการรัรกษาตามอาการของโรคต่อไป
  2. ในกรณี ไส้เลื่อนกระบังลม ช่องท้อง และเชิงกราน ซึ่งแพทย์ไม่สามารถคลำหาก้อนเนื้อนั้นๆ ได้ แพทย์จะใช้วิธีอัลตราซาวด์ (CT Scan) และ MRI หรือมช้วิธีการส่องกล้องผ่านลำคอ ลงไปยังหลอดอาหารและกระเพาะอาหารแทน

วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน

การรักษาโรคไส้เลื่อนนั้นมีตั้งแต่ วิธีการรับประทานยา ไปจนถึงวิธีการผ่าตัดไส้เลื่อน เช่นในกรณีเป็นไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม หากรักษาด้วยการทานยาลดกรดไม่หาย อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดแทน ซึ่งการผ่าจัดนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ

  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (open surgery) แพทย์จะทำการผ่าตรงบริเวณก้อนนูน ดันอวัยวะที่เกินออกมากลับเข้าไปข้างใน จากนั้นจะทำการเย็บแผลพร้อมกับใส่วัสดุสังเคราะห์ลักษณะคล้ายตาข่าย (surgical mesh) เพื่อป้องกันอวัยวะปลิ้นกลับออกมา และเสริมความแข็งแรงให้กับผิวหนัง หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแผล และพักฟื้นนานกว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง
  • การผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic surgery) เป็นวิธีที่นิยมในการรักษาโรคไส้เลื่อน เนื่องจากเป็นการเจาะรูบริเวณช่องท้องและทำการรักษา ซึ่งแผลผ่าตัดเล็กมาก พักฟื้นไม่นาน ฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อย และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด เช่น แผลติดเชื้อ ฯลฯ
กลับสู่สารบัญ
ผ่าตัดไส้เลื่อน

วิธีป้องกัน การเกิดไส้เลื่อน

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กากใยสูง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ หรือธัญพืชต่างๆ
  • ไม่สูบบุหรี่ หรืองดการสูบบุหรี่
  • เมื่อต้องยกของที่มีน้ำหนักมาก ให้ยกอย่างถูกวิธี เช่น นั่งย่อเข่าแทนที่จะก้มแล้วยกของเลย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หากมีอาการไอ ต้องรีบรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้ไอเรื้องรัง
  • ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ บ่อยๆ
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ฯลฯ ป้องกันการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ที่เกิดสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เพระาสามารถลามมาเป็นไส้เลื่อนกระบังลมได้เช่นกัน

หากผ่าตัดไส้เลื่อนแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?

หากผู้ป่วยเคยเข้ารับการรักษาโรคไส้เลื่อนมาแล้ว มีสิทธิ์กลับมาเป็นไส้เลื่อนอีกได้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • แพทย์ที่ทำการผ่าตัดไม่ชำนาญในการรักษา
  • ผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อายุที่มากขึ้น

ไส้เลื่อน ฟังดูแล้วอาจจะไม่ใช่โรคร้ายแรง หรืออันตรายมากนัก แต่ก็ไม่ควรมองข้าม! หากเริ่มมีอาการ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรค อยากให้รีบเข้ารับการตรวจกับทางแพทย์ เพื่อแก้ไขอาการต่างๆ ให้ทันเวลา ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้นานจนเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ และต้องเข้ารับรักษาโดยการผ่าตัดไส้เลื่อนก็เป็นได้ นอกจากนี้อยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพ ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปลอดโรคอย่างมีความสุข

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า