ดูดไขมันอันตรายไหม ? ก็มีจริงและหลายคนกังวลปัญหานี้มาก ถึงแม้ว่าการ ดูดไขมัน จะมีมานานกว่า 40 ปี แต่ก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องหลายอย่าง และมีการดูดไขมันที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดขึ้นมากมายจากสถานที่ให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน จนทำให้เกิดอันตรายและเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ ว่า ดูดไขมันแล้วเสียชีวิต ดูดไขมันอันตราย! จริง ๆ เราสามารถลดอันตรายได้ครับ ถ้าหากศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนจนเกินความมั่นใจก่อนตัดสินใจ ดูดไขมัน
อันตรายจากการดูดไขมัน ในอดีต
การดูดไขมันเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1920 ในสมัยที่ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส Dr Charles Dujarier ต้องการหาวิธีกำจัดก้อนเนื้องอกไขมันที่ขา แต่ทำให้เกิดความพิการหลังทำจึงไม่มีใครคิดจะทำอีก ดูดไขมันยุคนั้นอันตรายจริง (สมัยก่อนคิดว่าเปิดแผลกว้าง ๆ แล้วเอาที่ขูดมดลูก มาขูดออกทีละนิด ๆ)
การดูดไขมันเริ่มมาฮิตใน 40 ปีถัดมา เมื่อศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสอีกคน Dr. Yves-Gerard Illouz ได้พัฒนาเทคนิคและวิธีการที่เป็นมาตรฐาน คือมีอุปกรณ์ เครื่องดูดไขมัน เป็นเรื่องเป็นราว ต่อสายกับเครื่องดูด ซึ่งทำให้ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่คนไข้ยังเสียเลือดมากหลังทำ ยุคนั้นใครทำการดูดไขมันก็ต้องให้เลือด 1-2 ถุงทันที
จนกระทั่งปี 1987 Dr Jeffrey Klein ซึ่งเป็นแพทย์ผิวหนัง ได้คิดค้นวิธีที่เรียกว่า Tumescent คือใส่น้ำและยาชาเข้าใต้ผิวเป็นปริมาณมากเพื่อทำให้ชาและลดการเสียเลือดลง อีกทั้งทำให้การดูดไขมันง่ายขึ้น นับแต่นั้นมา วิธีการใส่ยาชาที่ผสมน้ำเกลือแบบนี้ ก็ถือเป็นมาตรฐานของการดูดไขมันยุคใหม่ไป ทำให้ อันตรายจากการดูดไขมัน ลดลงไปมาก
หลายคนอาจจะสงสัย ทำไมแพทย์ผิวหนังทำการดูดไขมันได้ จริง ๆ แล้วเป็นหนึ่งในหลักสูตรของหมอผิวหนังเลยนะครับ ในการให้ tumescent และดูดไขมันใต้ผิว เพื่อการรักษาก้อนไขมันบางอย่าง ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ในคลินิก เช่น ดูดไขมันหน้าท้อง เพื่อลดก้อนไขมันที่หน้าท้องที่เกิดจากการฉีดอินซูลินติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หรือการ ดูดไขมันหนอกคอ เพื่อรักษาก้อนที่หลังคอจากการใช้ยาสเตียรอยด์
วิวัฒนาการของการดูดไขมัน
หลังจากนั้น การดูดไขมันก็พัฒนามาต่อเนื่อง จากการดูดเฉยๆ โดยการต่อกับปั๊ม (ที่เราเรียกว่า suction) ก็ตามมาด้วยการใช้อุปกรณ์อื่นๆ ช่วยในการละลายไขมันก่อนการดูด โดยเจ้าแรกที่คิดค้นขึ้นมาคือเวเซอร์ ที่ใช้หลักการของอัตราซาวด์ที่สั่นสะเทือนเพื่อทำให้ไขมันสลายก่อนดูดไขมันออกมา
จากนั้น สารพัดอุปกรณ์ก็หลั่งไหลเข้าตลาด ทั้ง BodyTite , PAL Liposuction การดูดด้วยน้ำ แบบ waterjet การสลายไขมันด้วยเลเซอร์ ฯลฯ ซึ่งแน่นอน แต่ละอย่างก็ตามมาด้วยปัญหา หากใช้ไม่เป็นไม่เก่งพอ เพราะหลายชนิดมีความร้อนสูง เพราะหวังการละลายและกระชับผิว ซึ่งดูน่าตื่นเต้น แต่การที่ใส่ความร้อนเข้าไปแบบไม่ควบคุมให้ดี ก็อาจจะเกิดผิวไหม้ รอยบุ๋ม เป็นคลื่นๆได้เช่นกัน จึงอาจจะทำให้เกิด อันตรายจากการดูดไขมัน ได้
เดิมทีมีการใช้ยาชาในการดูดไขมัน ก็เพียงพอในการดูดบริเวณเล็กๆ เช่น ดูดไขมันใต้คาง หรือ ดูดไขมันต้นแขน โดยเฉพาะต้นแขน เพราะแขนเป็นทรงกลมที่มีหลายมุม การที่คนไข้สามารถหมุนตัว-พลิกตัวตลอดเวลาที่ทำ จะทำให้การดูดไขมันนั้นง่ายและสวยกว่าแน่นอน เพราะหากหลับไป การจัดท่าจะเป็นไปอย่างลำบากมากกว่า
ผิวหน้าท้องที่เป็นคลื่นหลังดูดไขมัน เกิดจากอุปกรณ์ดูดไขมันกลุ่มที่ให้พลังงานความร้อน ละลายไขมันแล้วเกิดควบคุมความร้อนไม่ได้
ต่อมาเมื่อความต้องการจะดูดหลายแห่งมีมากขึ้น ก็เริ่มมีการใช้ยานอนหลับ หรือยาสลบร่วมด้วย เหมือนการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งอาจจะเกิดจากการให้ยาชานั้นไม่เพียงพอ เพราะเราจำเป็นต้องจำกัดปริมาณยาชาที่ใช้ต่อวัน ไม่ให้เกิน 35 มิลลิกรัมของยาชา ต่อ น.น. ตัว ต่อกิโล เช่นหากน้ำหนัก 60 กิโลกรัม จะได้ยาชาไม่เกิน 2,100 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับทำหน้าท้องแน่ๆ แต่กลับไม่พอสำหรับการ ดูดไขมันทั้งทั้งตัว หรือ ดูดไขมันต้นขา (เหมารอบขา 2 ข้าง) ที่ต้องใช้ยาชาที่มากเกินไป ในกรณีที่พยายามดูดหลายจุดในครั้งเดียว ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความเป็น พิษของยาชาได้ ( lidocaine toxicity) อาการมีตั้งแต่ชาลิ้น ไปเรื่อยๆจนถึงอาการมึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ชักและเสียชีวิตได้
ดังนั้นผมเองไม่ค่อยเชื่อเรื่องโปรดูดทั้งตัวและทำทีเดียวหมดในหนึ่งวัน เพราะอันตรายเกินไป
การใช้ยานอนหลับ หรือยาสลบร่วมด้วย จึงเป็นทางเลือก ทำให้การใช้ยาชาน้อยลง สามารถทำได้หลายจุดและลดผลข้างเคียงจากยาชาขนาดสูงไปได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงของยาสลบเข้ามาแทน อ่านเพิ่มเติม : ดูดไขมันด้วยการ ฉีดยาชาเฉพาะจุด กับ ดมยาสลบ ต่างกันอย่างไร?
ดูดไขมันอันตรายไหม ? หากต้องใช้การ ดมยาสลบ ร่วมด้วย
การวางยาสลบในระหว่างการดูดไขมัน เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาอาจจะไม่ฟื้นขึ้นมา หรือเกิดผลข้างเคียงจากการวางยาสลบ ไม่ว่าจะมาจากการใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือเกิดการแพ้ยาสลบ
ดังนั้นการวางยาสลบในระหว่างการศัลยกรรมจะค่อนข้างมีอันตราย หากไม่มีวิสัญญีแพทย์เป็นคนทำ ไม่ชำนาญ หรือไม่มีการคัดกรอง เช่นการตรวจเลือด ตรวจร่างกายไม่ดีพอ หรือมีอุปกรณ์ต่างๆไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา ระหว่างการดมยาสลบ
การใช้ยาสลบในส่วนของโรงพยาบาลที่มีแพทย์ประจำนั้น ค่อนข้างวางใจได้ แต่ในส่วนของคลินิกนั้น จะต้องดูเป็นแห่งๆไป เพราะบางแห่งไม่ได้มาตรฐานพอ วิสัญญีแพทย์จะปฏิเสธการเข้าไปทำงาน หากตรวจพบว่าอุปกรณ์ต่างๆหรือยาบางชนิดสำหรับกรณีฉุกเฉิน มีไม่เพียงพอ
เมื่อไม่มีวิสัญญีแพทย์เข้าไปทำงานด้วย บางคลินิกก็เลือกใช้การฉีดยาสลบเอง หรือเลี่ยงมาใช้พยาบาลวิสัญญีแทน ซึ่งมีขีดความสามารถในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทดแทนความสามารถและมั่นใจวิสัญญีแพทย์ได้แน่นอน ดังนั้น หากสถานที่ไหน ใช้ยาสลบแล้วไม่มีวิสัญญีแพทย์คอยดูแลร่วมด้วยควรหลีกเลี่ยง
ดูดไขมันอันตรายไหม ? อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- อันตรายจากการดูดไขมันออกมาในปริมาณที่มากเกินไป
ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า การดูดไขมันนั้นไม่ใช่การลดน้ำหนัก เพราะหลายครั้งที่ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการลดน้ำหนัก และต้องการดูดออกมาปริมาณมากๆ เพื่อให้ร่างกายดูเล็กลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำได้ การดูดไขมันในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5,000 ซีซี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรายจาการเสียเลือด และน้ำของร่างกายในปริมาณที่มากเกินไป
ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นกำหนดไว้เลยว่าดูดไขมันเกิน 5 ลิตรถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นอยากให้เปลี่ยนความคิดว่าดูดออกมากๆ ในคราวเดียวจะได้สวยทันใจ ไม่เจ็บตัวหลายครั้ง จะได้ไม่มี อันตรายจากการดูดไขมัน
- อันตรายจากการดูดไขมันแล้วติดเชื้อ
ดูดไขมันแล้วติดเชื้อมักเจอไม่บ่อย เจอนานๆครั้งจากการดูดไขมันปริมาณมากจนไม่เหลือไขมันใต้ผิว จนผิวแห้งกรอบ ไม่นุ่มนวล หรือเกิดการทำลายระบบเส้นเลือดมากไปจนทำให้เกิดเนื้อตายและติดเชื้อตามมา
เคยมีรายงานเรื่องการติดเชื้อ แต่จะเป็นเฉพาะบางคลินิก เพราะอุปกรณ์ดูดไขมันเป็นท่อกลวง การล้างทำความสะอาดภายในท่อถือเป็นเรื่องยาก ไขมันอาจจแห้งเขรอะสะสมในท่อนั้น โดยเจ้าหน้าที่ไม่ทราบจะเอาออกอย่างไร แม้จะนำไปอบนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ก็ยังถือว่าไม่สะอาด
วิธีการทำความสะอาดที่ถูกต้องคือเริ่มตั้งแต่ในห้องผ่าตัด ที่ศัลยแพทย์จะต้องทราบว่าทุกครั้งที่เสร็จงาน ต้องดูดน้ำเปล่าเข้าไปสักพัก ถือเป็นการล้างคราบไขมัน หลังจากนั้นจะต้องมีน้ำยา enzyme ช่วยย่อยไขมัน ทิ้งไว้ 2-3 ชม จนไขมันละลายออกมาก นำไปล้างด้วยเครื่องพ่นน้ำแรงดันสูง ก่อนจะพร้อมสำหรับอบนึ่งฆ่าเชื้อ
- บวมช้ำ ผิวหนังไม่เรียบ พังผืดเกาะแข็ง
อาการบวมช้ำเกิดได้ แต่ก็แก้ไขโดยการมีรูระบายโดยไม่เย็บแผล หรือหากจะเย็บก็ใช้เดรนระบายยน้ำร่วมด้วย สาเหตุอีกอย่างคือการใช้อุปกรณืใหญ่เกินเนื่องจากอยากดูดออกเร็วๆ เสร็จงานเร็วๆเพราะมีเคสรออยู่เยอะ
ในส่วนตัวผู้เขียนเอง คิดว่าการรับเคสดูดไขมันวันละประมาณ 2 เคสถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะอาการล้าอาจจะทำให้ขี้เกียจ ควรจะดูดต่อให้สวยก็หยุดเพราะล้าเกินไป กทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี
การดูดมากไปจนบางมากมีโอกาสที่จะทำให้ผิวหนังไม่เรียบ โดยบางรายเมื่อลูบจะสังเกตได้เลยว่าเกิดการแข็งตัวใต้ผิวหนัง ทำให้ไม่ราบเรียบ ซึ่งอาจจะเกิดจากการมีพังผืดไปเกาะแข็ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะหาย
พังผืดที่เกาะแข็งบางครั้งก้เรียกซีโรมา่า เกิดจากน้ำใต้ผิว หลังการอักเสบใดๆ (สังเกตเวลาเราเอาหัวโขกกับพื้นจะบวมขึ้นมา) แล้วน้ำเหล่านั้น ไม่สามารถระบายออกได้ เกิดเป็นก้อนเล็ก หากเป็นซีโรมาแบบนี้ ต้องนวดช่วยหรือเจาะดูดน้ำออก ก็หายเป็นปกติครับ
- การเกิด ไขมันอุดตันที่ปอด
คำถามยอดฮิต โดยเฉพาะหมู่คนไข้สายสุขภาพทั้งหมอและพยาบาลที่มาทำที่คลินิก เป็น อันตรายจากการดูดไขมัน ที่พูดถึงกันมาก แต่จริงแค่ไหน ทีนี้เรามาดูการศึกษาใหญ่ๆที่รายงานการ ดูดไขมัน ในระดับหลักหลายแสนรายดังตารางข้างล่าง ซึ่งทำกันทั้งสองสมาคมที่มีการ ดูดไขมัน คือสมาคมของแพทย์ผิวหนัง (Derm) และสมาคมของศัลยแพทย์ตกแต่ง (Plastic)
จะเห็นได้ว่า ในการศึกษาในกลุ่มแพทย์ผิวหนังทุกครั้ง จะไม่พบอัตราตายใดๆเลย แต่ของศัลยแพทย์ตกแต่ง จะพบมีอัตราตายทุกครั้ง จากตารางนี้ ไม่ได้สรุปว่าศัลยแพทย์ตกแต่งฝีมือห่วยกว่านะครับ ขีดเส้นใต้ตรงนี้หน่อย..แต่เป็นเพราะทั้งสองกลุ่มทำงานต่างกันมากต่างหาก
แพทย์ผิวหนังมักดูดน้อย จุดเล็กๆ ใช้ยาชาอย่างเดียวเป็นหลัก เพราะไปขอใช้ห้องผ่าตัดเพื่อดูดไขมันโรงพยาบาลทั้งที่เป็นแพทย์ผิวหนังมักถูกปฎิเสธ ขณะที่ศัลยแพทย์ตกแต่งมักทำหลายอย่างในคราวเดียว ไม่ใช่แค่ดูดไขมัน เมื่อดูรายงานลึกๆลงไปในคนที่เสียชีวิต มักมีการผ่าตัดตกแต่งหน้าท้อง (tummy tuck) การเสริมหน้าอก เสริมก้น ทำตา จมูกและอื่นๆร่วมด้วยในคราวเดียวกัน
ซึ่งทำให้ระยะเวลาผ่าตัดนาน เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด (Pulmonary embolism) และเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิต…โดยไม่มีรายใดเลย ที่เสียชีวิตจากไขมันอุดตัน (fat embolism)
ดูดไขมันต้นแขนอันตรายไหม?
ดูดไขมันต้นแขน ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และทำโดยแพทย์ที่ชำนาญ เพราะบริเวณต้นแขนนั้นมีเส้นประสาทที่สำคัญ หากดูดไขมันไม่ดีอาจทำให้โดนเส้นประสาท เกิดอาการแขนชา ขิ้วชา เจ็บจี๊ดๆ ปลายนิ้วได้
รีวิวดูดไขมันต้นแขน แขนเรียวเพรียวสมใจ!
ดูดไขมันหน้าท้องปลอดภัยไหม หรือ น่ากลัวไหม?
ดูดไขมันหน้าท้อง โดยปกติในปัจจุบันมีความปลอดภัย แต่จะอันตรายก็ต่อเมื่อแพทย์ไม่มีความชำนาญ ดูดไขมันหน้าท้องผิดตำแหน่ง เช่น ดูดหน้าท้องผิวชั้นตื้นเกินไปและดูดไขมันออกมากเกินไปจนทำให้ผิวบริเวณนั้นบุ๋ม ไม่เรียบ, ดูดชั้นลึกเกินไปจนโดนอวัยวะสำคัญ หรือดูดไขมันแล้วอุปกรณ์ไปโดนกล้ามเนื้อ ก็ทำให้ดูดไขมันแล้วเจ็บได้เช่นกัน รวมถึงการที่เลือกใช้เครื่องหรืออุปกรณ์ไขมันไม่เหมาะสม ก็อาจทำเกิดข้อเสียหลังดูดไขมันหน้าท้องได้ เช่น ใช้พลังงานความร้อนจากเครื่องมากเกินไป ทำให้ผิวหนังไหม้ ผิวบุ๋ม หรือเกิดพังผืด ซึ่งอาจแก้ไขได้ยาก และมีราคาที่สูงมาก
หรือในเคสคนที่อยากดูดไขมันต้นขา หากสงสัยว่า ดูดไขมันต้นขาอันตรายไหม ก็ยึดหลักเดียวกันคือ มีความปลอดภัย และจะมีอันตรายก็ต่อเมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ ของแพทย์และอุปกรณ์ เป็นต้น
เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจดูดไขมันจะต้องศึกษาข้อมูงให้ละเอียด ทั้งแพทย์ที่ทำการรักษา อุปกรณ์ครบไหม สถานที่เป็นอย่างไร รวมถึงบริการหลังดูดไขมัน เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาสวยงาม ไม่ต้องแก้ซ้ำทีหลัง
ดูดไขมันที่หน้าอันตรายไหม?
เนื่องจากผิวหนังบริเวณหน้า กรอบหน้า ใต้คาง(เหนียง) นั้นบอบบาง การเลือกใช้เครื่องมือ ดูดไขมันหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเลือกใช้ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสีย เช่น รอยแผลเป็น รอยผิวหนังไหม้ ผิวหนังทะลุได้ ฯลฯ
ที่รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ มีเครื่องมือและอุปกรณ์ดูดไขมันที่หลากหลาย ทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ตามแต่ละส่วนอย่างเหมาะสม อย่างเช่น การดูดไขมันหน้า ดูดไขมันเหนียง เราจะใช้หัวดูด NeckTite หรือ FaceTite ที่มีขนาดเล็กก็เพียงพอ (หัวดูด BodyTite ใช้ดูดลำตัว พื้นที่บริเวณใหญ่ๆ) ข้อดีคือสลายไขมันพร้อมกระชับผิวใต้คางได้ดีมากๆ จากนั้นจะใช้หัวดูดขนาดเล็กของเครื่อง PAL ดูดไขมันออก
ดูดไขมันอันตรายไหม ? หลายคนอาจจะจินตนาการว่าดูดไขมันก็ต้องมีไขมันลอยเข้าเส้นเลือด เกิด fat embolism เอาเข้าจริง ในรายงานเรื่องไขมันอุดตันหรือ นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดในการผ่าตัดทางกระดูก(ออ์โธปิดิกส์) โดยเฉพาะผ่าข้อสะโพกหรือทางสูติกรรมมากกว่า ในทางศัลยกรรมตกแต่งนั้น ที่เจอก็จะเป็นจากการ ฉีดไขมัน มากกว่า การดูดไขมัน เพราะการดูดไขมันทำให้เกิด negative pressure ดูดไขมันออกไป ไม่มีแรงดันมากพอที่จะผลักไขมันเข้าเส้นเลือด ซึ่งต่างจากการ ฉีดไขมัน อย่างมาก
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography