หยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA : OSA) และมีอาการนอนกรนร่วมด้วย อาการนอนกรน หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า snoring และภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นปัญหาและโรคของการนอนหลับที่พบบ่อย ในคนอายุ 30-35 ปี โดยจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเมื่ออายุมากขึ้น อาการนอนกรนก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุอีกด้วย รวมถึงในกลุ่มคนที่น้ำหนักตัวมาก ก็พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน
นอนกรนเสียงดัง อาจเป็นสัญญาณอันตรายบางอย่างที่บ่งบอกว่าการหายใจของคุณนั้นผิดปกติ เพราะเสียงกรนนั้นแสดงถึงการหายใจผ่านช่องคอที่แคบ ยิ่งเสียงกรนดัง ก็หมายถึงการพยายามดันอากาศให้ผ่านช่องที่แคบมากๆ ซึ่งอาการนี้เป็นอาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง
อาการ นอนกรน (snoring) เกิดจากอะไร
อาการนอนกรนมี 2 ระดับ คือ การนอนกรนธรรมดา (Primary Snoring) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วย แต่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคม กับ การนอนกรนที่มีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ร่วมด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโดยตรง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ มาตามอีกด้วย
เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะที่กำลังนอนหลับ ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือเมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท หลับได้ไม่เต็มที่ตลอดทั้งคืน
ดังนั้นคนที่มีภาวะนี้จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน และในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ เนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถ และขณะทำงานกับเครื่องจักรกล
นอกจากนี้ก็ยังพบว่าผู้ป่วยที่มี ภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA) นั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ หลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ,โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง
ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนั้น (primary snoring) ถึงแม้ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของตนเอง แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน เนื่องจากทำให้ผู้อื่นนอนหลับยากไปด้วย ดังนั้นผู้ที่มีอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
อาการนอนกรน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
1. เกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน (soft palate), ลิ้นไก่ (uvula), ผนังคอหอย (pharyngeal wall) หรือโคนลิ้น (tongue base) และเมื่ออวัยวะเหล่านี้หย่อนลงมาทำให้เวลาหายใจ อากาศจะเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณดังกล่าวเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
2. ต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ (adenoid) ที่อยู่ในลำคอโตมีขนาดโตขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก เนื่องจากทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนเกิดเป็นเสียงกรน
3. ผู้ป่วยที่อ้วนมาก อาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนา ก็ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
4. ผู้ป่วยที่มีเนื้องอก หรือซีสต์ (cyst) ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน
5. การที่มีโพรงจมูกอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี เช่น อาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก, เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก, ริดสีดวงจมูก, ไซนัสอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน
6. การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (alcohol) การกินยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดง่วง ก็จะช่วยเสริมทำให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัวมากขึ้น และอาจมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเสียงกรนดังขึ้น
ดังนั้นอาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องปกติ ในทางตรงกันข้ามเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA : OSA) นั้นเกิดขึ้นจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ
ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ
ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับก็จะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่
และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่
อาการนอนกรน และมีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ระดับไหน ที่ควรปรึกษาแพทย์?
ถ้าเรามี อาการนอนกรน เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อาการนอนกรนทำให้เกิดปัญหาต่อคู่นอน สมาชิกในครอบครัว หรือมีผลต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องมาปรึกษาแพทย์ ยิ่งถ้ามีอาการนอนกรน ร่วมกับมีหยุดหายใจขณะหลับ ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรค
โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ที่ยังมีอาการไม่มาก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดกับอวัยวะและระบบต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้ ดังนั้นเมื่อคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์
- เวลาตื่นนอนมาในตอนเช้าจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ยังอยากนอนต่อ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน
- ในเวลากลางวันจะมีอาการง่วงนอน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน หรือเข้าเรียน
- ขณะหลับจะมีอาการหายใจติดขัด หายใจไม่ออก หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย สะดุ้งผวา หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
- นอนหลับไม่สนิท ฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก
- มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
- พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา และความจำแย่ลง
- บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป หลงลืมบ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
- รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
- ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
- ความรู้สึกทางเพศลดลง
การวินิจฉัยโรค หยุดหายใจขณะหลับ
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่บริเวณลำคอ ปาก และจมูก วัดความหนาของลำคอ รอบเอว และความดันโลหิต รวมถึงทำการทดสอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
การตรวจการนอนหลับ (polysomnography, PSG) หรือ sleep test
เป็นการตรวจที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย และบอกความรุนแรงของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA)โดยช่วยวินิจฉัยแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการนอนกรนธรรมดา และสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่ มีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่ การตรวจการนอนหลับจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป
โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ คลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือดโดยการติดขั้วโลหะ (Electrode) ที่บริเวณศีรษะและใบหน้า และเซ็นเซอร์ที่จมูก ขา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ทางเลือกในการรักษาอาการนอนกรน (snoring) และ หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด (non-surgical treatment)
- ปรับพฤติกรรม ลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความกระชับและความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจส่วนบน หรือถ้าน้ำหนักตัวมากๆ มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 มีโรคร่วมที่เกิดจากโรคอ้วนร่วมด้วย เนื่องจากน้ำหนักตัวมากเกินไป เช่น เบาหวาน, ความดัน, หยุดหายใจขณะหลับ พยายามลดด้วยการปรับพฤติกรรมแล้วแต่ยังไม่ได้ผล การผ่าตัดกระเพาะ ลดความอ้วน (bariatric surgery) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในการลดน้ำหนัก
- หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยาต้านฮีสตามีน (antihistamine) เมลาโทนิน หรือยาแก้แพ้ ชนิดที่ทำให้ง่วง โดยเฉพาะก่อนนอน
- การปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน ปรับเป็นท่านอนตะแคง จะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยกว่าการนอนหงาย
- การใช้เครื่องมือช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือไม่อุดกั้นขณะนอนหลับที่เรียกว่า continuous positive airway pressure (CPAP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงและไม่เหมาะที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเป็นการนำหน้ากาก (mask) ครอบจมูกขณะนอนหลับ ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา ลมที่ขับออกมาขณะนอนหลับจะช่วยค้ำยัน (pneumatic splint) ไม่ให้ทางเดินหายใจเกิดการอุดกั้นขณะหายใจเข้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน
- การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม/ช่องปาก (Mandibular advancement devices, MAD) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับไม่รุนแรง การใช้ MAD จะช่วยดึงกรามล่างมาด้านหน้าเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจด้านหลังกว้างขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับได้
- การใช้เออร์เบียมแย็กเลเซอร์ (Erbium: YAG laser) ด้วยนวัตกรรมการใช้เลเซอร์ในปัจจุบัน ทำให้การรักษานอนกรนเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก มีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ซับซ้อน ไม่อันตราย ราคาไม่แพง ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะมีแต่การผ่าตัดเพื่อให้เกิดผังผืดยึดขึ้น หรือตัดลิ้นไก่เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างอันตรายและต้องใช้ระยะเวลาพักพื้นกว่าแผลจะหายและรับประทานอาหารได้ปกติ การใช้พลังงานความร้อนจากเลเซอร์ ที่ปรับค่าพลังงานเหมาะสมจนทำให้กล้ามเนื้อและเยื่อบุเพดานอ่อนสามารถหดตัวขึ้นจนยกลิ้นไก่ให้สูงลอยขึ้นได้ จึงทำให้ช่องทางเดินอากาศกว้างมากขึ้น ช่วยให้การหายใจโล่งขึ้น และลดอันตรายจากภาวะการขาดอากาศหายใจชั่วขณะ
การรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยการผ่าตัด
มีการผ่าตัดได้หลายวิธี ขึ้นกับระดับความรุนแรงและอวัยวะที่ทำให้เกิดการอุดกั้นขณะนอนหลับ ซึ่งจะพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ดูแลรักษา
- Somnoplasty เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่ จี้ความร้อนเข้าไปใต้เนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานปาก หรือลิ้นไก่ เพื่อเพิ่มทางเดินหายใจ
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล (tonsillectomy) ทำในรายที่มีต่อมทอนซิลโตมาก จนอุดกั้นทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็ก ในรายที่มีต่อมทอนซิลที่โคนลิ้นโตมาก ก็อาจใช้แสงเลเซอร์ตัดออกได้ การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดที่อาศัยการดมยาสลบ
- Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) คือ การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างมากขึ้น เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยเป็นการผ่าตัดที่เอาต่อมทอนซิล ลิ้นไก่ และเนื้อเยื่อที่หย่อนยาน บริเวณผนังคอหอยออก และทำให้เพดานอ่อนสั้นลง เป็นการผ่าตัดในช่องปากโดยไม่มีแผลภายนอก และอาศัยการดมยาสลบ ใช้ในรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอยู่ระดับเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และคอหอย เช่น มีลิ้นไก่หรือเพดานอ่อนที่ยาว ผนังคอหอยหนาและหย่อนยาน ซึ่งการผ่าตัดจะทำให้บริเวณดังกล่าวนี้กว้างขึ้น ทำให้อาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับน้อยลงหรือดีขึ้นได้
- Mandibular/maxillary advancement surgery คือ การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีความผิดปกติของกระดูกใบหน้ามาก
- Nasal surgery คือ การผ่าตัดในโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum)
อ่านบทความเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นการทำผ่าตัดแก้ไขจุดใดจุดหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นมากนัก และการรักษาที่เหมาะสมนั้น นอกจากขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายร่วมด้วย การให้การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการเสียชีวิต และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
พญ. รัตตินันท์ ตรีรัตน์ (คุณหมอแต๋ม)
แพทย์ผู้ชำนาญด้านผิวพรรณและเลเซอร์
เกียรตินิยมด้านเวชศาสตร์ความงามจาก American Academy of Aesthetic Medicine
ประสบการณ์มากกว่า 20 ปี