มะเร็งกระเพาะอาหาร ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Gastric cancer หรือ stomach cancer ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 6 จากโรคมะเร็งทั้งหมด และมีผู้ป่วยใหม่ทั่วโลกสูงถึง 951,594 รายต่อปี คิดเป็น 6.8% ของโรคมะเร็งทั้งหมด ส่วนในประเทศไทย พบมีผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร 4,000 รายต่อปี เป็นลำดับที่ 12 คิดเป็น 2.3% ของโรคมะเร็งทั้งหมด
มะเร็งกระเพาะอาหาร คืออะไร?
เริ่มเกิดจากเซลล์ที่อยู่บริเวณเยื่อบุผิวด้านในของกระเพาะอาหารเกิดความผิดปกติกลายเป็นเนื้อร้าย และกระจายผ่านออกมาถึงบริเวณเยื่อบุผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งมีตอนเหตุมาจากจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) เมื่อเกิดอาการแล้ว มะเร็งจะลุกลามการกระจายตัวไปยังอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ข้างเคียง อาการเริ่มต้นจะไม่รุนแรง มีอาการคล้ายกับ โรคกระเพาะอาหาร และ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร ชนิดนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี และพบในผู้ชายมากกว่า ผู้หญิง 20 เท่า
มะเร็งกระเพาะอาหาร อาการเป็นอย่างไร?
อาการเริ่มต้นของมะเร็งกระเพาะอาหาร หรืออาการในระยะแรกนั้น อาจจะไม่แสดงอาการรุนแรง สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาการของมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นในช่วงแรกมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัด แต่เมื่อแสดงอาการชัดเจนขึ้น โรคก็มักจะลุกลามไปมากแล้ว ทั้งๆ ที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ได้
มะเร็งกระเพาะอาหารอาการเริ่มแรก อาจจะรู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ความอยากอาหารลดลง มี อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก คล้ายๆ กับ อาการกรดไหลย้อน ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่ มักไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง แต่ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและหาลักษณะอาการแสดงอื่นๆ ของโรคมะเร็งกระเพาะ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยอาการลุกลามแล้ว เนื้อร้ายเจริญเติบโตมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นจนมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหรือจุกที่ลิ้นปี่ แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร
- กลืนอาหารลำบากมากขึ้น
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือเป็นสีดำ
- อาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานาน หรืออาเจียนเป็นเลือด
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
- มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองเนื่องจากมะเร็งลุกลามไปที่ตับ
- ท้องบวมจากน้ำในช่องท้อง เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปที่เยื่อบุผนังในช่องท้อง
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร?
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งหลอดอาหารยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จากการศึกษา เชื่อว่ามีความผิดปกติหลายกลไกร่วมกัน ดังนี้
- เกิดความผิดปกติของยีน (gene)
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เพศ พบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
- ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- เชื้อชาติ พบมะเร็งกระเพาะอาหารในคนเอเชีย มากกว่าชนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออก (eastern Asia) ดังนั้นจึงมีการตรวจคัดกรอง (screening program) ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งทำให้สามารถพบโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและลดอัตราการเสียชีวิตได้สูงถึง 40%
- อาหาร การรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมักดอง อาหารเค็มจัด อาจทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น ในขณะเดียวกันการรับประทานผัก และผลไม้ก็อาจจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้
- การสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงขึ้น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Pylori เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อติดเชื้อนี้จะทำให้มีอาการอักเสบและเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
วิธีตรวจมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การซักประวัติและอาการต่างๆ ปัจจัยเสี่ยง การเจ็บป่วยในอดีต และประวัติการรักษาที่ผ่านมา
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจวัดความเข้นข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อประเมินภาวะซีด (complete blood count, CBC) การตรวจเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood test) เพื่อดูว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่ตรวจการทำงานของตับ (liver function test) การทำงานของไต (renal function test) เป็นต้น
- การเอกซเรย์กลืนแป้ง (double-contrast barium swallow) โดยจะให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสม barium ซึ่งเป็นสารทึบรังสี โดยน้ำที่กลืนนั้นจะไปเคลือบที่ผิวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นจะทำการเอกซเรย์ตรวจดูความผิดปกติในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จะทำให้มองเห็นก้อนเนื้อหรือสิ่งแปลกปลอมผิดปกติภายในกระเพาะอาหาร
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (esophago-gastro-duodenoscope, EGD) ซึ่งเห็นความผิดปกติได้ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อหาบริเวณที่ผิดปกติและตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
- การส่องกล้องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (endoscopic ultrasonography, EUS) โดยให้ผู้ป่วย กลืนเครื่องมือลงไป โดยวิธีการนี้มีข้อดีคือสามารถเห็นชั้นต่างๆของกระเพาะอาหารได้ ทำให้ทราบความลึกของโรคมะเร็งที่ลุกลามที่แน่นอนได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง (computed tomography, CT) โดยการกลืนและฉีดสารทึบรังสี จะทำให้เห็นลักษณะพยาธิสภาพของกระเพาะอาหารชัดเจนขึ้น แต่ไม่สามารถระบุความลึกของก้อนมะเร็งได้ดีเท่ากับการทำ EUS นอกจากนี้การทำ CT ยังสามารถดูการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) ได้ด้วย
- เอกซเรย์ปอด (chest x-ray) การตรวจสแกนกระดูก (bone scan/ scintigraphy) หรืออาจตรวจด้วย PET/CT scan ซึ่งเป็นการตรวจทั่วทั้งร่างกาย สามารถเห็นพยาธิสภาพที่กระเพาะอาหารได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถตรวจหาการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปได้พร้อมกัน
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร รักษาอย่างไร?
มะเร็งกระเพาะอาหาร รักษาหายไหม? การรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ระยะการแพร่กระจายของโรค และสภาพผู้ป่วย การรักษาหลักของมะเร็งกระเพาะอาหารประกอบด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งตามระยะของโรค ดังนี้
- ผู้ป่วยระยะแรก อาจจะไม่ได้แสดงอาการอะไรมาก ซึ่งอาจจะมีแค่อาการแน่นท้อง ท้องอืด แสบร้อนกลางหน้าอกคล้ายกรดไหลย้อน หรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งระยะเริ่มต้นนี้ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้กล้องส่องทางเดินอาหารเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสหายขาดสูงมาก
- ผู้ป่วยระยะที่สอง ที่มะเร็งเริ่มมีขนาดโตขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปติดกับอวัยวะข้างเคียง จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยเป็นการตัดกระเพาะอาหารออก โดยอาจจะผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน (subtotal gastrectomy) หรือผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด (total gastrectomy)ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อน รวมถึงตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออก และอาจมีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
- ผู้ป่วยระยะที่สาม ที่มะเร็งลุกลามไปติดอวัยวะข้างเคียง เช่น ในผนังช่องท้อง ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่ปัจจุบันสามารถใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับความร้อน มาช่วยในการผ่าตัด (HIPEC: Hyperthermic Intraperitoneal Chemotherapy) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากขึ้น
- มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะสุดท้าย หรือระยะมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ระยะนี้ไม่สามารถผ่าตัดและไม่สามารถรักษาให้หายขาด แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรค
- การฉายรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารขั้น 1 บีหรือ ขั้นสูงกว่า (มะเร็งลุกลามไปที่ผนังกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง) การรักษาที่ใช้การฉายรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดร่วมด้วยจะได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น
อ่านบทความเพิ่มเติม
หลังการรักษาโดยการตัดกระเพาะอาหารออก ผู้ป่วยจะไม่มีกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กที่ถูกผ่าตัดไปต่อกับหลอดอาหารโดยตรง แทนกระเพาะอาหาร ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการทานน้อยลงแต่ทานบ่อยขึ้น
นอกจากนี้เมื่อไม่มีกระเพาะอาหารจะทำให้การย่อยอาหารลำบากมากขึ้น เพราะไม่มีน้ำย่อย จึงจำเป็นต้องเคี้ยวให้นานขึ้น เพื่อให้อาหารมีโมเลกุลเล็กเพียงพอต่อการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก เนื่องจากลำไส้เล็กจะสามารถดูดซึมอาหารได้เมื่อมีโมเลกุลขนาดเล็ก หลังจากปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวและรับประทานได้มากขึ้น เพราะลำไส้เล็กจะเกิดการขยายตัว และสามารถรับอาหารได้มากขึ้น นอกจากนี้ คือควรพักผ่อนให้เพียงพอ และติดตามการรักษาตามแพทย์นัดอย่างต่อเนื่อง
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography