สิว (Acne) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของรูขุมขนและต่อมไขมัน โดยส่วนมากมักจะเป็นบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก และหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่อยู่หนาแน่น (seborrheic area) สิวมักจะเริ่มเป็นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น (puberty) และมักหายไปในช่วงอายุ 30 ปี แต่บางคนก็อาจเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสิวและประวัติของสิวในครอบครัว ร้อยละ 85 ของผู้เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง
สาเหตุของสิวเกิดจากอะไรได้บ้าง
สิว เกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่
1. เกิดจากการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ (Follicular epidermal hyperproliferation)
- การแบ่งเซลล์และการผลัดเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ในรูขนทำให้เกิดการอุดตันในท่อรูขน (microcomedone) ซึ่งมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เป็นปัจจัยเสริมที่กระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นของเซลล์ผิวหนัง เกิดภาวะชั้นผิวก่อตัวหนาขึ้นผิดปกติ (Hyperkeratosis) ในรูขุมขน และเซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดลอกออกได้ไม่ดีพอ อีกทั้งยังมีไขมันส่วนเกินดักจับเซลล์เหล่านี้ไว้บนผิวหนัง เซลล์ที่ตายแล้วจึงไปอุดตันต่อมไขมัน
2. มีการผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป (Excess sebum production)
- มีการสร้างไขมันเพิ่มขึ้นจากต่อมไขมัน โดยมีฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นตัวกระตุ้น ให้มีการสร้างน้ำมันออกมามากขึ้น ซึ่งไขมันเหล่านี้ก็ยังเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวหรือ P.acnes โดย P.acnes จะย่อยสลายไขมันไปเป็นอาหาร (triglyceride) กระบวนการนี้ก่อให้เกิดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้นและทำให้เกิดสิวชนิดตุ่มนูนแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) ขึ้น
3. การเพิ่มขึ้นของแบคทีเรีย P.acnes (P.acnes proliferation)
- P.acnes เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนและต่อมไขมันอยู่แล้ว (normal flora) แต่เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ ก็จะเกิดหลั่งเอนไซม์ที่ทำให้สิวอุดตัน (Comedone) แตกออก และทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
4. เกิดการอักเสบ (Inflammation)
- การอักเสบเกิดขึ้นจากการแตกของสิวอุดตัน (Comedone) และการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย P.acnes
ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดสิว
ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากนอกร่างกายของเรา เช่น ยา ครีม และเครื่องสำอางบางชนิด สภาพแวดล้อม แสงแดด อุณหภูมิ และอาหาร ซึ่งเราสามารถป้องกันได้
- พันธุกรรม และประวัติของคนในครอบครัวมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดสิว และความรุนแรงของสิว
- อาหาร ยังไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างอาหารกับการเกิดสิว แต่มีแนวโน้มว่าอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยเสริม ที่ทำให้เกิดสิวในผู้ป่วยบางราย มีรายงานพบว่า อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) สูง หรืออาหารหวาน อาหารจำพวกแป้ง และผลิตภัณฑ์นมวัว โดยเฉพาะนมไขมันต่ำ (low fat milk) มีความสัมพันธ์กับการเกิดสิวและความรุนแรงของสิว
- การใช้เครื่องสำอาง เช่น แป้ง ครีมบางชนิด เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดสิว เนื่องจากส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิดสามารถไปอุดตันรูขุมขนได้
- ยา เช่น ยาสเตียรอยด์ (Steroid) สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ หรือการใช้ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotic) เป็นเวลานานอาจทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้เสียหายและส่งผลต่อสุขภาพผิว รวมถึงการใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไปยังช่วยกระตุ้นให้เกิดสิวอักเสบรุนแรงได้ โดยเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาอนาบอลิก สเตียรอยด์ (Anabolic steroids) ในทางที่ผิดในกลุ่มนักเพาะกาย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Pro Yellow เลเซอร์ รักษารอยแดง รอยสิว
สิว มีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
ส่วนใหญ่รอยโรคของสิวมักจะค่อยๆ เริ่มเป็นเมื่อเข้าสู่วันรุ่น (Puberty) บริเวณที่เป็นสิวบ่อย ได้แก่ ใบหน้า คอ หลัง และอกส่วนบน สิวที่พบมักมีหลายลักษณะร่วมกันอยู่ในบริเวณเดียวกัน (Polymorphous) ซึ่งสามารถแบ่งสิว ออกได้เป็น 2 ลักษณะคร่าวๆ คือ
1.สิวชนิดไม่อักเสบ
คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขน หรือที่เรียกว่า สิวอุดตัน (Comedone) ลักษณะของสิวชนิดไม่อักเสบ มี 2 แบบ ได้แก่ สิวอุดตันชนิดหัวปิด (closed comedone) และชนิดหัวเปิด (open comedone)
- สิวอุดตันชนิดหัวปิด (closed comedone) เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งสีขาว (whiteheads) จะเห็นชัดขึ้นเมื่อดึงผิวหนังให้ตึง หรือคลำได้นูนๆ เวลาล้างหน้า
- สิวอุดตันชนิดหัวเปิด (open comedone) เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งคล้ายสิวอุดตันชนิดหัวปิด แต่ตรงยอดมีรูเปิด และมีก้อนสีดำอุดอยู่ (blackheads) โดยจะมองเห็นได้ชัดเจนกว่าชนิดหัวปิด
2.สิวชนิดอักเสบ ได้แก่
- ตุ่มแดง (Papule) เป็นตุ่มนูนแดงแข็งมีขนาดแตกต่างกันออกไป กดเจ็บ ร้อยละ 50 ของสิวชนิดนี้ เกิดจากสิวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (microcomedone) ส่วนที่เหลือก็จะเกิดจากสิวอุดตัน ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รักษาก็จะเกิดการอักเสบ กลายเป็นตุ่มแดงตามมา
- ตุ่มหนอง (Pustule) มีทั้งชนิดตื้นและลึก ตุ่มแดงขนาดเล็กมีหนองที่ยอด สิวหนองชนิดตื้นมักหายได้เร็วกว่าสิวชนิดตุ่มแดง (papule) ส่วนสิวหนองชนิดลึกจะมีอาการเจ็บร่วมด้วย และพบในผู้ที่เป็นสิวรุนแรง
- ตุ่มนูนแดง (Nodule) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8 มิลลิเมตรขึ้นไป ภายในมีหนองปนเลือด บางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกันหรือมีสิวอุดตันหัวเปิด หัวดำมากกว่า 1 หัวอุดอยู่ มักพบบริเวณหลังของผู้เป็นสิวชนิดรุนแรง (acne conglobata) สิวชนิดนี้เมื่อหายไปอาจเกิดแผลเป็นตามมาได้
- ซีสต์ (Cyst) เป็นสิวขนาดใหญ่ เป็นถุงใต้ผิวหนังภายในมีหนองหรือสารเหลวๆ คล้ายเนย มีลักษณะเป็นก้อนนูนแดงนิ่ม ภายในมีหนองปนเลือด เวลาหายแล้วมักมีแผลเป็นหลงเหลืออยู่ สิวชนิดนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
เมื่อสิวหายอาจจะเหลือรอยแผลจากสิวได้หลายแบบ ได้แก่ รอยแดง รอยดำ แผลเป็นชนิดหลุม แผลเป็นชนิดนูน ความรุนแรงและระยะเวลาของสิวอักเสบมีผลต่อการเกิดแผลเป็นสิว การรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นสิว
ระดับความรุนแรงของสิว
- สิวเล็กน้อย (mild acne) ส่วนใหญ่จะเป็นสิวอุดตัน หรือมีสิวอักเสบที่เป็นสิวตุ่มแดง ตุ่มหนองเล็กๆ ได้ แต่ไม่เกิน 10 จุด
- สิวรุนแรงปานกลาง (moderate acne) ส่วนมากจะเป็นสิวตุ่มแดงและตุ่มหนองเกิน 10 จุด ร่วมกับมี สิวตุ่มนูนแดงใหญ่ๆ
- สิวรุนแรงมาก (severe acne) มีตุ่มนูนแดงใหญ่ๆ และซิสต์ จำนวนมาก
ซึ่งแพทย์จะแบ่งความรุนแรงของสิว เพื่อวางแผนการรักษาและตรวจติดตามต่อไป
กลับสู่สารบัญสิว รักษาอย่างไร
การรักษาสิวขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว ตำแหน่งที่เป็น อายุ เพศ ความสะดวกในการใช้ยารักษา และผลข้างเคียงจากยา โดยปกติหลังการรักษาไปประมาณ 2-3 เดือน สิวจะเริ่มดีขึ้น ประมาณ 20-40% และจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ และเมื่อสิวยุบหมดแล้ว ก็ควรใช้ยาทารักษาสิวต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ การใช้ยา มีทั้งยาทา และยารับประทาน ซึ่งเป็นการรักษาหลัก โดยจะไปออกฤทธิ์แก้ที่สาเหตุที่ทำให้เกิดสิว ปกติจะใช้ยาหลายๆ ตัวร่วมกัน เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวนั้นมีหลายปัจจัย
1. ยาทา ได้แก่
- อนุพันธ์ของวิตามินเอ (Topical retinoids) ช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวในรูขนเป็นไปอย่างปกติ ช่วยละลายสิวอุดตัน และป้องกันการเกิดสิวใหม่
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ เบนแซค (benzac) ฆ่าเชื้อ P.acnes, ยีสต์ ที่พบในรูขน ต่อมไขมัน ช่วยรักษาสิวอักเสบ ป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาเมื่อใช้กับยาฆ่าเชื้อแบบทาหรือรับประทาน
- ยาฆ่าเชื้อชนิดทา (topical antibiotics) ได้แก่ clindamycin, erythromycinช่วยฆ่าเชื้อ P.acne และลดการอักเสบ สามารถใช้ในสิวอักเสบได้
- กรดอะเซเลอิค (Azeleic acid) ช่วยฆ่าเชื้อ P.acne ลดการอักเสบ ลดสิวอุดตัน และยังช่วยลดรอยดำ (PIH) เมื่อสิวหายอีกด้วย
- กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ช่วยละลายสิวอุดตัน แต่ก็น้อยกว่ากรดวิตามินเอ และช่วยลดการอักเสบด้วย
2. ยารับประทาน ได้แก่
ยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) ที่ใช้บ่อยๆ ในคนที่มีสิวรุนแรงปานกลางถึงมาก ได้แก่ Tetracyclin Doxycyclin, Erythromycin, Azithromycin เป็นต้น โดยยาจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ P.acnes และต้านการอักเสบ โดยปกติจะให้ไม่เกิน 3 เดือน ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนรวม ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่เป็นสาเหตุของสิว
เหมาะสำหรับคนที่เป็นสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือมี ลักษณะของความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน ขนดก หน้ามัน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น อนุพันธ์ของวิตามินเอ (Isotretinoin) ช่วยลดขนาดต่อมไขมัน ลดการสร้างน้ำมันออกมาที่ผิวหนัง เมื่อไขมันลดลง เชื้อ P.acne ก็ลดลงไปด้วย รวมถึงลดการหนาตัวของผิว จึงช่วยลดการอุดตัน ลดการอักเสบ แต่มีผลข้างเคียงมาก
3. การรักษาอื่นๆ เช่น
- สบู่ ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดสิว หรือการอุดตัน
- มอยเจอร์ไรเซอร์ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ควรใช้ชนิดที่ไม่มีน้ำมัน เพื่อช่วยลดการอุดตัน และเนื่องจากยารักษาสิวมีผลข้างเคียงทำให้หน้าแห้ง ลอกเป็นขุยได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น จะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
- ครีมกันแดด ควรใช้สารกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB และไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน ช่วยลดอาการผิวไวต่อแสง ที่เกิดจากยารักษาสิว และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยดำตามหลังการอักเสบ
- การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อรักษาสิวอักเสบ
- การกดสิว ในกรณีที่มีสิวอุดตัน
- การใช้สารเคมีลอกผิว (chemical peeling) เช่น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ใช้รักษาสิวอุดตัน สิวอักเสบได้
- เลเซอร์รอยสิว (การรักษารอยแดง รอยดำ จากสิว)
สิวและรอยแดงของสิว เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้เวลารักษานานพอสมควรกว่าที่รอยแดงจะหาย หรือบางครั้งก็จะเกิดเป็นรอยดำตามมาได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีเลเซอร์ที่ทำให้รอยแดง และสิวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้เป็นเลเซอร์กลุ่มจัดการกับรอยแดงรอยดำจากสิว เช่น Pro yellow laser (577 nm), Pulse dye laser (595 nm), Infrared laser, IPL, RF เป็นเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการลดรอยแดงให้จางลงหลังการรักษา ซึ่งการยิงเลเซอร์ชนิดนี้สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาที
นอกจากนี้ สิว และรอยแดงจากสิว ก็จะดีขึ้นด้วยตามลำดับ ส่วนมากสามารถเห็นผลการรักษาได้ในครั้งแรกและถ้าทำต่อเนื่องประมาณ 3-5 ครั้ง จะดีขึ้น ประมาณ 70-90% บางรายหายขาดได้ และถ้ามีรอยดำหรือแผลเป็นจากสิวแล้ว เลเซอร์ที่ช่วยได้ ได้แก่ Pico second laser, Q-switch laser
และนอกจากจะช่วยลดรอยแดงดำจากสิวแล้ว ยังมีประสิทธิภาพช่วยทำให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ลง เรียบเนียนขึ้นและลดริ้วรอยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยจะช่วยเสริมสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนังให้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้รูขุมขนเล็กลง ผิวเรียบเนียนขึ้น ซึ่งควรเข้ารับการรักษาทุกๆ 2-4 สัปดาห์ ประมาณ 3-5 ครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองที่แตกต่างของแต่ละบุคคล
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography