หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วเกี่ยวกับ โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ในร่างกายเรา และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากๆ แบบไม่น่าเชื่อ เช่น ป้องกันมะเร็งลำไส้ และสร้างสมดุลในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายดี เป็นต้น วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับจุลินทรีย์ตัวนี้ให้มากขึ้นกัน
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คืออะไร?
โดยปกติแล้ว ร่างกายของเรานั้นมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่มากมายและมีหลายชนิด บางชนิดให้ประโยชน์และบางนิดชนิดก่อโรค โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีชีวิต อาศัยอยู่บริเวณทางเดินอาหาร ลำไส้ มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง โพรไบโอติกส์ทำหน้าที่ผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายของเราสมดุลขึ้น และมีสุขภาพดี พบได้ในอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักบางชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ชาหมัก หรือในรูปแบบอาหารเสริมก็ได้ เป็นต้น
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร?
พรีไบโอติกส์ เป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่มีประโยชน์ต่อเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ หรือเรียกได้ว่าเป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วพรีไบโอติกส์จะเป็นสารอาหารในกลุ่มของไฟเบอร์ พบในอาหารประเภท กล้วย กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งร่างกายเราไม่สามารถย่อยสารและดูดซึมไปใช้งานได้ โพรไบโอติกส์จึงทำหน้าที่แทน
โพรไบโอติกส์ มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
- ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์ในร่างกาย
- ช่วยทำให้การดูดซึมอาหารในกระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
- กระตุ้นระบบการย่อยอาหาร และการดูดซึมอาหารในร่างกาย
- ช่วยลดอาการท้องเสีย
- ลดการอักเสบต่างๆ ที่เกี่ยวกับลำไส้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง
- โพรไบโอติกส์ยังเป็นอีกหนึ่งเชื้อจุลินทรีย์ตัวสำคัญที่สามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ได้
- สังเคราะห์วิตามิน ไขมัน กรดอะมิโนต่างๆ ให้ร่างกายได้ดูดซึมนำกลับไปใช้ใหม่
- กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ
- ช่วยสร้างความสมดุลในลำไส้ รักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น
โพรไบโอติกส์ ช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคบางชนิดได้
- โพรไบโอติกส์กับโรคระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวน, กรดไหลย้อน, ท้องผูก, ท้องร่วงจากการติดเชื้อ ฯลฯ
- โพรไบโอติกส์กับโรคภูมิแพ้ ช่วยลดอาการผื่นแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้อากาศ
- โพรไบโอติกส์กับโรคทางอวัยวะสืบพันธุ์ ช่วยลดอาการภาวะติดเชื้อในช่องคลอด, ช่องคลอดแห้งหลังหมดประจำเดือน
- โพรไบโอติกส์กับโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ ช่วยลดอาการภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ
- โพรไบโอติกส์ยังมีส่วนช่วยในการลดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักตัวเกินได้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก รักษาโรคอ้วน
โพรไบโอติกส์ พบได้ในอาหารประเภทไหน?
เราสามารถเพิ่มปริมาณโพรไบโอติกส์ หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ได้จากอาหารชนิดต่างๆ ดังนี้
- อาหารบางประเภทที่ผ่านกระบวนการหมักดอง เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ
- กลุ่มผัก เช่น หอมหอมแดง กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง
- กลุ่มข้าว แป้ง และธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวโอ๊ต
- กลุ่มถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ
- ผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิ้ล
การทานโพรไบโอติกส์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่อสุขภาพ สร้างสมดุลในลำไส้ นั้นแพทย์จะแนะนำให้ทานอาหารที่มีทั้งโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ พร้อมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างในร่างได้ได้ดียิ่งขึ้น
ของคุณข้อมูล
- https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/
- De Vrese M1, Schrezenmeir J. Probiotics, prebiotics, and synbiotics.[Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18461293
- Maria Kechagia, Dimitrios Basoulis, Stavroula Konstantopoulou, et all. Health Benefits of Probiotics: A Review. [Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4045285/
- Paulina Markowiak and Katarzyna Slizewska. Effects of Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics on Human Health. [Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5622781/
- Justin L Carlson, Jennifer M Erickson, Beate B Lloyd, and Joanne L Slavin. Health Effects and Sources of Prebiotic Dietary Fiber. [Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6041804/pdf/nzy005.pdf
- Hong Zhang, Chiajung Yeh,, and H. Kathleen Dannelly. Prospective study of probiotic supplementation results in immune stimulation and improvement of upper respiratory infection rate.[Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5995450/
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography