นิ่วในไต เป็นปัญหาสําคัญของระบบทางเดินปัสสาวะ ที่พบได้บ่อยทั่วโลก และจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งในกลุ่มประชากรวัยแรงงานและผู้สูงอายุ
นิ่วในไต เกิดจากอะไร ?
สารอาหารทุกอย่างที่ร่างกายเราทานเข้าไป จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และหลังจากที่เลือดส่งสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายจนครบแล้ว ก็จะส่งของเสียเข้ามาที่ไตเพื่อกรองเป็นปัสสาวะออกไป แต่ถ้าสารที่ส่งมากรองที่ไตนั้นเข้มข้นมาก ไตก็อาจจะขับออกไปไม่หมด ซึ่งก็อาจทำให้เหลือเป็นตะกอนทิ้งไว้ แล้วสามารถเกาะสะสมจับตัวกันจนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด ซึ่งก้อนนิ่วมีชนิดและขนาดที่แตกต่างกันไป โดยมักเกิดขึ้นบริเวณไต แต่พบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในไตมีหลายชนิด ถ้าจําแนกตามสารเคมีหรือแร่ธาตุที่ประกอบเป็นผลึกในก้อนนิ่ว จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- นิ่วที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ (calcium stones) ซึ่งเป็นนิ่วที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งอาจเป็นนิ่วแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หรือ นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต (calcium phosphate) หรือนิ่วเนื้อผสมของแคลเซียมออกซาเลตกับฟอสเฟต หรือแคลเซียมออกซาเลตกับกรดยูริก
- นิ่วที่ไม่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ (non- calcium stones) พบได้ประมาณร้อยละ 15-20 ได้แก่ นิ่วกรดยูริก (uric acid stone) นิ่วจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือนิ่วสตรูไวท์ (infection stone หรือ struvite) และนิ่วซีสทีน (cystine stone) เป็นต้น โดยนิ่วกรดยูริกและแคลเซียมฟอสเฟตมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูงกว่านิ่วชนิดอื่น
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค นิ่วในไต
- พันธุกรรม (genetics) มีหลายรายงานที่พบว่า ความเสี่ยงในการเกิดนิ่วของผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในครอบครัวเป็น 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีประวัตินิ่วในครอบครัว
- ดื่มน้ำน้อย เพราะการดื่มน้ำน้อยเกินไป ซึ่งพบว่าการรับประทานน้ำในผู้ป่วยโรคนิ่วในไตนั้นมีปริมาณน้อยกว่า 2 ลิตรต่อวัน ส่งผลให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง เมื่อความเข้มข้นของปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ แคลเซียม ออกซาเลต และฟอสเฟต จับตัวกัน และเกิดเป็นเกลือแคลเซียมออกซาเลต และเกลือแคลเซียมฟอสเฟตได้มากและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เกิดนิ่วที่ไตได้ง่ายขึ้น
- ร่างกายเสียน้ำมาก เช่น นักกีฬา หรือคนที่อยู่กลางแดดมากๆ ร่างกายก็จะเสียน้ำออกไปทางเหงื่อมาก ก็ส่งผลให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นขึ้น
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเก๊าท์ (Gout) ซึ่งก็จะส่งผลให้ความเข้มข้นของยูริกในเลือดเพิ่มมากขึ้น ขับออกทางไตเพิ่มขึ้น หรือมีโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ไตอักเสบ โรคลำไส้อักเสบ
- ความผิดปกติทางไต ทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป โดยปัสสาวะตามปกติควรมีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 6 – 7.5 เนื่องจาก pH เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างยิ่งในการบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดนิ่ว อย่างไรก็ตามระดับ pH ก็ยังคงขึ้นกับการรับประทานน้ำและอาหาร ผัก ผลไม้ เกลือแร่ การอดอาหาร การออกกําลังกายอย่างหนัก เป็นต้น
- การทานสารอาหารแบบเดียวกันซ้ำๆ ซึ่งทำให้เกิดตะกอนชนิดเดิมไปสะสม นานๆ ไปก็จะจับตัวกลายเป็นนิ่วได้ รวมถึงการทานเนื้อสัตว์ เกลือ และน้ำตาล มากเกินไป
- น้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) สูงเกินค่ามาตรฐาน (>23 kg/m2) ทําให้มีภาวะแคลเซียมและออกซาเลตในปัสสาวะสูง จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่ว
อาการที่มักพบในผู้ป่วยโรคนิ่วในไต ได้แก่
- ปวดรุนแรงบริเวณข้างลำตัวและหลัง ลักษณะปวดแบบเสียดๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ และอาจปวดช่องท้องด้านล่างลงไปจนถึงขาหนีบ
- ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย น้ำปัสสาวะน้อยผิดปกติ
- ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาลหรือสีชมพู
- คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
การวินิจฉัย นิ่วในไต
การวินิจฉัยนิ่วในไตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลประวัติด้านสุขภาพและผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย
- การตรวจเลือด ผลการตรวจเลือดจะสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพไต รวมทั้งตรวจวัดระดับของสารที่อาจทำให้เกิดนิ่ว โดยผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจตรวจพบว่ามีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดที่มากเกินไป
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขับแร่ธาตุที่รวมตัวเป็นก้อนนิ่วมากเกินไป หรือมีสารป้องกันการเกิดนิ่วที่น้อยเกินไปหรือไม่ ตลอดจนตรวจหาภาวะติดเชื้อ หากพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต
- การตรวจโดยดูจากภาพถ่ายไต วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นตามทางเดินปัสสาวะ การถ่ายภาพไตมีหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ เช่น การเอกซ์เรย์ (x-ray) ในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้มองไม่เห็นก้อนนิ่วในไตขนาดเล็กหรือนิ่วบางชนิด การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ไต (Ultrasound) นอกจาก 2 วิธีนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งอาจทำให้เห็นนิ่วก้อนเล็ก ๆ ได้
- การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (IVP) ทำได้ด้วยการฉีดสีเข้าไปที่เส้นเลือดใหญ่บริเวณแขน แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อให้เห็นสิ่งกีดขวางในขณะที่ไตกรองสีดังกล่าวออกจากเลือดแล้วขับถ่ายไปเป็นปัสสาวะ โดยให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะผ่านเครื่องกรอง เพื่อดักจับนิ่วที่ออกมา และนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดก้อนนิ่ว วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วางแผนป้องกันการเกิดนิ่วที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
การรักษา นิ่วในไต
การรักษาอาการนิ่วในไต ใช้วิธีการรักษาตามชนิดและสาเหตุ ได้แก่
- รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด หากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมากไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ โดยแพทย์อาจพิจารณายาช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม โดยจะเป็นยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blocker) ซึ่งเป็นยาช่วยขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะ ออกฤทธิ์โดยการทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้ให้ก้อนนิ่วในไตถูกขับออกมาได้เร็วและเจ็บน้อยกว่าเพียงการดื่มน้ำช่วย รวมถึงอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล (Paracetamol)
- การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อย วิธีนี้ควรรักษากับแพทย์ที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด
- การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้อง Ureteroscopy เข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ขับออกมาทางปัสสาวะ
- การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็กๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่อง เพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมา
การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วที่ไตซ้ำ
- ควรดื่มน้ำปริมาณมาก มากกว่า 8 แก้วต่อวัน โดยให้ดื่มกระจายตลอดวัน เพื่อให้ได้ปริมาตรของปัสสาวะตั้งแต่ 2 ลิตรขึ้นไป ใน 24 ชั่วโมง เพื่อลดความเข้มข้นของสารต่างๆ ในปัสสาวะ
- บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนเหมาะสม
- อาหารจําพวกผักและผลไม้ เป็นแหล่งของสารยับยั้งการเกิดนิ่ว และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ช่วยให้ปริมาณซิเทรต โพแทสเซียม และ pH ของปัสสาวะเพิ่มขึ้น และลดการทําลายของเซลล์เยื่อบุหลอดไต จึงสามารถยับยั้งการเกิดนิ่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไขมันจากพืชและไขมันจากปลา ไขมันเหล่านี้สามารถลดปริมาณแคลเซียมในปัสสาวะได้ดีกว่าไขมันที่ได้จากเนื้อสัตว์ ช่วยลดอากาสการเกิดนิ่วซ้ำ
- ลดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารหวานและเค็มมาก และอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ หนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน การบริโภคอาหารโปรตีนสูงจะทําให้เพิ่มสารก่อนิ่ว และเพิ่มโอกาสการเกิดนิ่วสูงมาก
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง เนื่องจากออกซาเลตเป็นสารก่อนิ่วที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ งา ผักโขม ถั่วต่างๆ ช็อกโกแลต และชา เป็นต้น
- เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ปัจจุบันพบว่าการลดอาหารที่มีแคลเซียมในผู้ป่วยโรคนิ่ว ทําให้เพิ่มสารก่อนิ่วชนิดออกซาเลตในปัสสาวะ เนื่องจากแคลเซียมจะไปจับและยับยั้งการดูดซึมออกซาเลตทางลําไส้ ช่วยลดระดับออกซาเลตในปัสสาวะ ภาวะปกติร่างกายควรได้รับแคลเซียมประมาณ 800-1200 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่รับประทานยาเม็ดแคลเซียมเสริมควรรับประทานพร้อมกับมื้ออาหาร
- ออกกำลังกายและคลายเครียด ควรออกกำลังกายเป็นเวลา 30 นาทีทุกวัน เช่น การเดินจะช่วยทําให้นิ่วขนาดเล็กหลุดได้ การเดินสมาธิ โยคะ ทําให้การทำงานของร่างกายดีขึ้น และยังลดความเครียด และลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดก้อนนิ่ว
- ควบคุมน้ำหนัก ให้มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในระดับปกติ (BMI = 5 – 22.90 Kg/m2)
โรคนิ่วเป็นโรคที่เกิดจากหลากหลายปัจจัย ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติขององค์ประกอบในปัสสาวะ การบาดเจ็บของท่อไต และเซลล์ต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นนิ่วได้
โรคนิ่วที่ไตเป็นโรคที่สามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ หากมีการประเมินองค์ประกอบของก้อนนิ่ว และความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมในปัสสาวะ รวมกับการรักษาทางศัลยกรรม ซึ่งการรักษาแบบองค์รวมไม่เพียงแต่จะป้องกันการเกิดนิ่วได้ แต่ยังเป็นการรักษาต้นเหตุของการเกิดนิ่วอย่างถาวรอีกด้วย
Ref.
- โรคนิ่วไต: จากกลไกการเกิดนิ่วระดับโมเลกุลสู่การป้องกัน Kidney Stone Disease: From Molecular Lithogenesis to Stone Prevention ชาญชัย บุญหล้า ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์ เกรียง ตั้งสง่า
- https://www.pobpad.com/
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography