โรคไทรอยด์ รู้หรือไม่ว่า? โรคนี้สามารถทำให้อวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งแต่ละคนอาจแสดงอาการไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีอาการ เหนื่อยง่าย มือสั่น ใจสั่น หรือมีอาการที่รุนแรงกว่านี้ หรือในบางคนอาจไม่แสดงอาการเลยก็ได้ และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาหารแบบไหนคือไทรอยด์ประเภทใด? ไทรอยด์เรื้องรัง ไทรอยด์ผอม ไทรอยด์อ้วน แต่ละประเภทจะแสดงอาการอย่างไร ไปหาคำตอบกัน!
โรคไทรอยด์ (Thyroid disease) คืออะไร?
ไทรอยด์ คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่อยู่ตรงบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงาน ถ้าหากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็จะส่งผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายได้
รวมทั้งยังส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง หรือแม้แต่ความแข็งแรงของผิวหนัง เล็บ หรือผม ก็มีผลเช่นกัน โดยมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในสัดส่วนประมาณ 5 ต่อ 1 ซึ่งโรคไทรอยด์มีหลายชนิด จึงทำให้แสดงอาการทางร่างกายที่แตกต่างกันไป
โรคของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยๆ ในบ้านเรา จะมี 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
- กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid dysfunction) ได้แก่ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ หรือที่เรียกว่า ไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) และภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปจนทำให้ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroidism)
- กลุ่มที่มีก้อนของต่อมไทรอยด์ (Nodular thyroid diseases) จะมีทั้งแบบโตก้อนเดียว (Single thyroid nodule) และแบบโตหลายก้อน (Multinodular goiter)
Credit : https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17665-hashimotos-disease
2.1 ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
ไทรอยด์เป็นพิษ ชนิดนี้สามารถพบเจอได้ทุกช่วงวัย คนไข้จะมีอาการ มือสั่น ใจสั่น ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด เหงื่อออกง่าย นอนไม่หลับ กินจุแต่น้ำหนักลด เหมือนมีการเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา น้ำหนักตัวอาจลดลง 5-10 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 1 เดือน แม้จะไม่ได้ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยประมาณ 10% ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มเนื่องจากกินอาหารในปริมาณที่มากกว่าพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญไป
ภาวะนี้มีสาเหตุของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ แต่ที่พบมากที่สุดคือโรคเกรฟส์ หรือ Graves’ disease ดังนั้นการตรวจหาสาเหตุของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) มีความจำเป็นอย่างมากโดยจะต้องหาสาเหตุของโรคให้ได้แน่ชัด เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาและการติดตามผู้ป่วยที่เหมาะสม สำหรับวิธีการหาสาเหตุว่า ภาวะไทรอยด์เป็นพิษนั้นเกิดจากสาเหตุใด ทำได้โดยการซักประวัติ และตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาอาการและอาการแสดงร่วมนอกจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน
ทั้งนี้การรักษาทำได้ด้วยการกินยาต้านไทรอยด์ประมาณ 2 ปี ส่วนในระยะยาวหลังจากหยุดยาต้องมาตรวจอีกครั้ง เพราะหลายคนเมื่อหยุดยาก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่ถึง 70% อีกวิธีหนึ่งก็คือการรักษาด้วยรังสีไอโอดีน เป็นวิธีรักษาที่ใช้กันมากที่สุดวิธีหนึ่ง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ในรูปแบบแคปซูลหรือของเหลว ซึ่งสารนี้จะค่อย ๆ เข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์หดตัวลง และทำให้อาการของโรคค่อย ๆ หายไป
2.2 ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroidism)
ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroidism) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ทำให้เกิดการสร้างและหลั่งฮอร์โมนสู่กระแสเลือดลดลง นำไปสู่อาการและอาการแสดงต่างๆ ภาวะนี้พบได้บ่อย โดยจะพบมากขึ้นตามอายุ ภาวะการได้รับสารไอโอดีนของประเทศนั้นๆ และจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ มักจะมีอาการตรงกันข้ามกับไทรอยด์เป็นพิษ อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่พบบ่อยๆ ได้แก่
- อาการบวม
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- เชื่องช้า
- ท้องผูก
- ผิวแห้ง
- ขี้หนาว
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีแรง
- เสียงแหบ
อาการทั้งหมดจะค่อยเป็นค่อยไป โดยมากอาการของภาวะไทรอยด์ต่ำนั้นวินิจฉัยยาก เพราะอาการไม่จำเพาะคล้ายผู้สูงอายุที่อ่อนเพลียทั่วไป แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า คนอ้วน จะต้องเป็นไทรอยด์เสมอไป
เบื้องต้นสามารถสังเกตตัวเองได้จากพฤติกรรมในอดีตกับปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีความเสี่ยงควรไปตรวจเช็กเพื่อความแน่ใจ โดยการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์
สาเหตุของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ อาจจะเกิดจากความผิดปกติเกิดที่ต่อมไทรอยด์เอง หรือเกิดความผิดปกติที่ต่อมใต้สมองก็ได้ สำหรับการรักษาไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนต่ำนั้นจะง่ายกว่าไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนเกิน เพราะสามารถรักษาได้ด้วยการกินฮอร์โมนไทรอยด์เข้าไป เพื่อให้ฮอร์โมนกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่มักจะต้องกินไปตลอดชีวิต
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
2.3 ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)
ต่อมไทรอยด์อักเสบ จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- แบบอักเสบกึ่งเฉียบพลัน
- แบบอักเสบเรื้อรัง
ซึ่ง ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน นั้น จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัด มีไข้ หรือมีภาวะต่อมไทรอยด์โต คนไข้จะรู้สึกเจ็บเมื่อคลำที่ก้อนบริเวณคอ สามารถรักษาได้ด้วยการทานยากลุ่มสเตียรอยด์ และมักจะหายขาดได้ภายใน 3-6 เดือน
ส่วน ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรัง นั้น จะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการคอโตแต่กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ สามารถรักษาได้ด้วยการทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน
2. ต่อมไทรอยด์โต หรือมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Nodular thyroid diseases)
ภาวะต่อมไทรอยด์โต จะมี 2 ชนิด คือ แบบเป็นพิษและไม่เป็นพิษ ซึ่งภาวะต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษนั้นจะคลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์แต่ไม่มีอาการ ทำให้คนไข้หลายๆ รายมักสับสนกับภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยภาวะต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษจะมีทั้งแบบโตก้อนเดียว (Single thyroid nodule) และแบบโตหลายก้อน (Multinodular goiter)
ในกรณีที่พบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ คนไข้มักกังวลว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ซึ่งคำตอบคือไม่จำเป็นเสมอไป โดยการจะทราบผลว่าเป็นมะเร็งหรือไม่นั้นจะต้องทำการเจาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพื่อนำเซลล์ไปตรวจ โดยที่ผ่านมาพบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง
นอกนั้นก็เป็นเพียงก้อนธรรมดาที่ไม่ได้อันตรายอะไร ซึ่งหากก้อนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หมอก็ไม่แนะนำให้ผ่าตัดเพราะบริเวณนั้นมีทั้งเส้นเสียง และเส้นเลือดจำนวนมาก แต่ก็ควรตามดูอาการอย่างสม่ำเสมอ
แต่ถ้าหากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ หากลักษณะเป็นก้อนแข็ง มีขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่?
ซึ่งการรักษา มะเร็งต่อมไทรอยด์ ที่เหมาะสมที่สุด คือการผ่าตัด อาจผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดหรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา และระยะของการพบโรค
Credit : https://www.oooojournal.net/article/S1079-2104(05)00471-3/fulltext
โรคไทรอยด์ อาการเป็นอย่างไร?
อาการของ โรคไทรยอด์ ที่มักจะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงแบบผิดปกติ
- เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- นอนไม่ค่อยหลับ
- ขี้ร้อน เหงื่อออกเยอะผิดปกติ
- ผมร่วงผิดปกติ
- ตาโปน
- อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น รู้สึกง่วงตลอดเวลา
- ขี้หนาว รู้สึกหนาวตลอดเวลา
- ขับถ่ายไม่เป็นปกติ
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
โรคไทรอยด์ เกิดจากสาเหตุใด / ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไทรอยด์
ไทรอยด์ เกิดจากอะไร? ภาวะไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกินกับภาวะไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำนั้นไม่ได้มีสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่ในทางการแพทย์เชื่อว่ากรรมพันธุ์อาจมีส่วน โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีครอบครัวที่เป็นโรคไทรอยด์เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าแม่เป็นโรคไทรอยด์ เราก็อาจจะมีสิทธิ์เป็นไทรอยด์มากกว่าคนอื่น รวมถึงขณะที่การรับประทานไอโอดีนในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้มีความเสี่ยงได้เช่นกัน
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography