โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชที่มีคนที่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังมีคนที่รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก ซึ่งบางคนก็เป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตัวเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
โรคซึมเศร้า (Depression) คืออะไร ?
ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้า เรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งความจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน บางคนรู้สึกมากบางคนรู้สึกน้อย อย่างไรก็ตามในบางครั้ง
ถ้า อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นาน โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่ อีกต่อไป ก็อาจจะ เข้าข่ายของโรคซึมเศร้า แล้ว
เพราะฉะนั้น “โรคซึมเศร้า” จึงเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้า ตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่างๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย หากจะเปรียบกับโรคทางร่างกายก็คงคล้ายๆ กัน เช่น ในโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นก็จะมีอาการต่างๆ ร่วมกับการทำอะไรต่างๆ ได้น้อยหรือไม่ดีเท่าเดิม
ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม
ปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคซึมเศร้า
- พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า
- มีลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ
- การมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
- สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพลจากคนใกล้ชิดรอบข้าง
- มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด สิ่งที่มากระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียด และมีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด
โรคซึมเศร้า นั้นไม่ได้มีสาเหตุจากแต่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้น มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจไม่มีก็ได้ แต่ก็พบได้น้อย การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ
อาการ โรคซึมเศร้า มีกี่ระดับ ?
ขออธิบายว่าเป็น การเปลี่ยนแปลงในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ได้ต่อไปนี้ อาการอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย และผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการตามนี้ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลักๆ จะมีคล้ายๆ กัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
ที่พบบ่อยคือ จะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด จิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
2. ความคิดเปลี่ยนไป
มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น
3. สมาธิความจำแย่ลง
จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม
ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆ ตื่นๆ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ฯลฯ
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม
6. การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ถ้าเป็นแม่บ้านงานบ้านก็ไม่ได้ทำ หรือทำลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการทางจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักดีขึ้นตาม
เกณฑ์การวินิจฉัย โรคซึมเศร้า
คือต้องมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า
- มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
- ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
***โดยจะต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ หรือ ต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน และเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
แบบทดสอบ โรคซึมเศร้า
ดังนั้นเมื่อพบว่าตนเองมีอาการต่างๆ ที่ เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า สามารถประเมินอาการตนเองคร่าวๆ ได้จาก แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามที่ใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น
หลังจากนั้นเราควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอน ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพราะ แพทย์ยังต้องสอบถามรายละเอียดของอาการและเรื่องราวจากผู้ป่วย หรือบางครั้งจากญาติใกล้ชิดร่วมด้วย เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า โรคทางร่างกายหลายโรค และยาบางตัวก็สามารถก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
รวมถึงสอบถามประวัติความเจ็บป่วยอื่นๆเพื่อดูว่าเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าหรือไม่ การวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาศัยทักษะในการตรวจพอสมควร มีพบบ้างเหมือนกันว่าผู้ป่วยมาด้วยอาการของโรคซึมเศร้า แต่พอรักษาไปได้ระยะหนึ่งเริ่มมีอาการของโรคทางกายให้เห็น พอส่งตรวจเพิ่มเติมก็พบเป็นโรคทางกายต่างๆ
โรคซึมเศร้า รักษาหายไหม ?
หลังจากแพทย์ประเมินอาการจนค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางร่างกายอื่นๆ ก็จะเริ่มให้การรักษา โดยการรักษาที่สำคัญในโรคนี้ คือการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง การทำจิตบำบัด ร่วมกับการให้ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น
ปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่ถือว่าปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ ผู้ป่วยบางคนกลัวผลข้างเคียงจนไม่กล้ากินยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ เพราะกลัวว่าจะติดยาหรือกลัวว่ายาทำให้มีอาการมึนงงไปหมด
ความจริงแล้วยาแก้ซึมเศร้าไม่มีการติดยา และไม่ทำให้เกิดอาการมึนงงอย่างที่เข้าใจกัน ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ การไปซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะลดประสิทธิภาพของยาลงเช่นกัน
โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก และถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก
Lorem ipsum dolor sit amet...
- หัดยอมรับตัวเอง ฝึกยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ผิดหวังเสียใจได้ รู้จักขอบคุณตัวเองและแสดงความภาคภูมิใจในตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่ดี ชีวิตมีขึ้นมีลง แค่รับมือกับมันได้ตัวคุณก็จะเบาสบายขึ้น
- หัวเราะเยอะๆ เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขัน หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเรื่องขบขันสนุกสนาน เพื่อช่วยคลายเครียด ช่วยคลายความทุกข์ในใจได้ดีทีเดียว
- ระบายความรู้สึก ควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจออกมา
- ออกกำลังกาย เพราะ การออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมี “เซโรโทนิน” ในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟีนที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย
- ออกไปเที่ยวบ้าง เพราะเป็นการหนีห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้า เปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่สดใส มีพลังมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และคลายความเศร้าได้ดีเช่นกัน
- ทำงานอดิเรก หาอะไรทำที่สร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
- Positive Thinking การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความวิตกกังวลได้จริง โดยอาจจะเริ่มจากฝึกคิดในมุมบวก ฝึกมองเรื่องต่างๆ รอบตัวในมุมบวก ฝึกมองผู้อื่นในแง่ดี และรู้จักชื่นชมคนอื่น หากทำได้จะเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตของคุณได้มากขึ้นแน่นอน และอย่าลืมว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกอย่าลืมครอบครัวและเพื่อนฝูง คุณสามารถเปิดใจและพูดคุยกับพวกเขาได้ตลอดเวลา
Ref. https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
Biography